ไฮไลท์
- เมืองท่าฝางเฉิงก่างเริ่มโครงการก่อสร้าง “เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสำหรับสินค้าสดและมีชีวิต” (เฟสแรก) เพื่อรองรับการค้าสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การแปรรูป การกระจายสินค้า การเก็บรักษา และการซื้อขาย โดยตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มบริการด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่มีขนาดใหญ่ มีความทันสมัย และมุ่งสู่อาเซียน
- เมืองฝางเฉิงก่างมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งติดอาเซียน มีด่านท่าเรือและด่านทางบกขนาดใหญ่ที่มีการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนค่อนข้างสูง มีระบบขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ที่ช่วยให้การกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน และเชื่อมกับโครงข่ายรถไฟข้ามทวีป (Trans-Asia Railway) ผ่านเอเชียกลางไปถึงทวีปยุโรปได้
- นักลงทุนไทยสามารถใช้เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นฯ เป็นฐานการผลิต แปรรูป และกระจายสินค้าประมง (ที่ไทยมีความได้เปรียบ) และใช้โมเดลขนส่ง(เรือ+)ราง เพื่อลำเลียงสินค้าประมงไปจำหน่ายในหัวเมืองสำคัญในจีน หรือขยายตลาดต่อไปยังประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเลในภูมิภาคเอเชียกลาง (Landlocked) ไปจนถึงทวีปยุโรปได้ด้วยขบวนรถไฟขนส่งสินค้า China Railway Express จากกว่างซีได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการขนส่งทางอื่น
เมืองฝางเฉิงก่างเริ่มโครงการก่อสร้าง “เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสำหรับสินค้าสดและมีชีวิต” (เฟสแรก) เพื่อรองรับการค้าสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตแบบครบวงจรระหว่างจีนกับอาเซียน ตั้งแต่การแปรรูป การกระจายสินค้า การเก็บรักษา และการซื้อขาย โดยตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มบริการด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่มีขนาดใหญ่ มีความทันสมัย และมุ่งสู่อาเซียน
ตามรายงาน โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 3,800 ล้านหยวน มีเนื้อที่ 17 ไร่ แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส สำหรับเฟสแรก มีเนื้อที่ 25 ไร่ (33% ของเนื้อที่รวม) มีมูลค่าเงินลงทุน 1,093 ล้านหยวน (28.76% ของมูลค่าการลงทุน) คาดการณ์ว่า เขตนิคมเฟสแรกจะมีกำลังการแปรรูปอาหารสดปีละ 2 แสนตัน และเมื่อเปิดดำเนินการครบทั้ง 3 เฟสจะมีกำลังการแปรรูปมากกว่าปีละ 6 แสนตัน ปริมาณการค้าจะมีมูลค่าทะลุ 20,000 ล้านหยวน สามารถรองรับโรงงานได้ 3,000 ราย และสร้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 15,000 ตำแหน่งงาน
จุดเด่นของเมืองฝางเฉิงก่างและโครงการดังกล่าว คือ
- ตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) จึงมีความพร้อมด้านอุตสาหกรรมประมงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงทะเล โดยสามารถบูรณาการความร่วมมือกับอีก 2 เมืองในอ่าวเป่ยปู้ด้วย ได้แก่ เมืองชินโจวและเมืองเป๋ยไห่
- มีพรมแดนติดจังหวัดกาวบั่งของเวียดนาม กำกับดูแลด่านทางบกตงซิง (Dongxing Border Gate/东兴口岸) ซึ่งเป็นด่านสากลที่มีความสำคัญในการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (สัตว์น้ำมีชีวิต สัตว์น้ำแช่เย็น และสัตว์น้ำแช่แข็ง) และเป็นด่านการนำเข้า-ส่งออกผลไม้สด โดยด่านทางบกตงซิงอยู่ระหว่างการรอตรวจรับจากส่วนกลางเพื่อนำเข้าผลไม้ไทยผ่านทางบก ขณะที่ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่างได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้จากไทยแล้วตั้งแต่เดือน เมษายน 2558 และมีการนำเข้าล็อตแรกในเดือนมิถุนายน 2558
- ปัจจุบัน มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟด้วยระบบห่วงโซ่ความเย็นที่เป็นเที่ยวประจำหลายเส้นทาง เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเสิ่นหยาง (มณฑลเหลียวหนิง) นครจี่หนาน (มณฑลซานตง) นครฉงชิ่ง รวมถึงนครเฉิงตู เมืองกว่างอัน และเมืองต๋าโจว (มณฑลเสฉวน) และมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งทางรถไฟกับจังหวัดต่างๆ ในเวียดนามด้วย
“จีน” เป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการบริโภคอาหารทะเลมากที่สุด ผู้บริโภคมีแนวโน้มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดย “อ่าวเป่ยเป่ยปู้” นับเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก และเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นเมืองหน้าด่านของการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า เทรนด์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าในระบบห่วงโซ่ความเย็น กำลังเข้ามาแทนที่การขนส่งด้วยรถบรรทุก ด้วยข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัยสูง ต้นทุนการขนส่งต่ำ เวลาการขนส่งค่อนข้างตรงเวลา กำลังการขนส่งต่อเที่ยวทำได้ในปริมาณมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางกำลังได้รับความนิยมจากผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ
โดย “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ได้แก่ ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ เป็นต้นแบบของระบบขนส่งสินค้าทางรางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโมเดล “เรือ+ราง” คือ เรือบรรทุกตู้สินค้าเข้าเทียบท่าแล้ว สามารถยกตู้สินค้าเพื่อขึ้นรถไฟเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองอื่นได้โดยตรง ทำให้ผู้ค้าได้รับความสะดวก และประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก นับเป็นหัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (International Land and Sea Trade Corridor-ILSTC) ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการค้าในภูมิภาคตะวันตกกับต่างประเทศ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นข้อต่อสำคัญของระเบียงดังกล่าว
โอกาสสำหรับนักลงทุนไทย นักลงทุนสามารถใช้ “เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสำหรับสินค้าสดและมีชีวิต” เป็นฐานการผลิต แปรรูป และกระจายสินค้าประมง (ที่ไทยมีความได้เปรียบ) หรือจะใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” เพื่อลำเลียงสินค้าประมงไปจำหน่ายในหัวเมืองสำคัญในจีน หรือขยายตลาดต่อไปยังประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเลในภูมิภาคเอเชียกลาง (Landlocked) ไปจนถึงทวีปยุโรปได้ด้วยขบวนรถไฟขนส่งสินค้า China Railway Express จากกว่างซีได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการขนส่งทางอื่น
เนื่องจากอ่าวเป่ยปู้มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่เป็นทุนเดิม การเข้ามาจัดตั้งธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำในเขตนิคมดังกล่าวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ขณะที่ผู้ค้าที่เน้นการซื้อมาขายไปก็สามารถใช้เขตนิคมแห่งนี้เป็นจุดกระจายสินค้า (ประมงและผลไม้ไทย) ได้เช่นกัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563
ภาพประกอบ MERICS RESEARCH