กว่างซีทุ่มงบมหาศาล พัฒนาโครงข่ายขนส่งทุกมิติเชื่อมสู่ทะเล

ไฮไลท์

  • กว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเลเพื่อขับเคลื่อนกว่างซีสู่การเป็นมณฑลที่แข็งแกร่งด้านทะเล ระหว่างปี 2563-2565 โดยเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเลให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยมี “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เป็นหัวใจสำคัญของแผนพัฒนาดังกล่าว
  • แผนพัฒนา “เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล” และอานิสงส์จากระเบียง ILSTC ที่มีโมเดลการขนส่งแบบต่อเนื่อง “เรือ+รถไฟ” เป็นตัวชูโรง ทำให้ผู้ค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า รวมถึงนโยบายอุดหนุนอีกมากมาย จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และช่วยพลิกโฉมท่าเรืออ่าวเป่ยปู้จากม้านอกสายตา ก้าวเข้าไปเป็น 1 ใน 30 ท่าเรือขนาดใหญ่ของประเทศจีน (China’s Top 30 Ports)
  • รัฐบาลกว่างซีวางแผนจัดสรรเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล (มากกว่า 5 แสนล้านหยวน) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางแม่น้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อกับทางทะเลที่อ่าวเป่ยปู้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็น Hub และเสริมสร้างประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ของกว่างซีในเวทีการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศได้อีกมาก
  • ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และท่าเรือแหลมฉบัง มีความร่วมมือด้านท่าเรือระหว่างกันอยู่แล้ว โดยมีสายเรือหลายรายให้บริการในขณะนี้ ใช้เวลาขนส่งเร็วสุดเพียง 4 วัน จึงเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง

 

ความได้เปรียบด้านที่ตั้งติดทะเลเพียงมณฑลเดียวในภาคตะวันตก และอานิสงส์จากยุทธศาสตร์การพัฒนา “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ระเบียง ILSTC (International Land and Sea Trade Corridor) ทำให้รัฐบาลกว่างซีมุ่งส่งเสริม “เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล” หรือ Seaward Economy ที่มีทะเลอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เป็นเป้าหมายหลัก เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของกว่างซีกับต่างประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเลเพื่อขับเคลื่อนกว่างซีสู่การเป็นมณฑลที่แข็งแกร่งด้านทะเล ระหว่างปี 2563-2565 โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล ตัวอย่างเช่น

การสร้างโครงข่ายงานขนส่ง ทะเล+บก” ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มเส้นทางเดินเรือ Direct service ระหว่างอ่าวเป่ยปู้กับท่าเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศสมาชิกอาเซียน) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายเส้นทางเดินเรือระยะไกลไปยังทวีปยุโรป อเมริกา และแอฟริกา พัฒนาร่องน้ำเดินเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ และพัฒนาให้ นครหนานหนิง เป็น Hub โลจิสติกส์ทางอากาศและทางรถไฟระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค

ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2565 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้จะมีปริมาณขนถ่ายสินค้าทะลุ 400 ล้านตัน ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์แตะ 7 ล้าน TEUs  และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ในระบบงานขนส่งเรือ+รถไฟทะลุ 3.5 ล้าน TEUs

การพัฒนาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็น Hub ออกสู่ทะเลของจีนตะวันตก ก้าวต่อไปของการพัฒนาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้อยู่บนแนวคิด “ท่าเรืออัจฉริยะที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” พร้อมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก (Inland port) ด้วย โดยท่าเรือชินโจวได้เริ่มงานก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ+รถไฟ แห่งแรกของประเทศจีนแล้ว ขณะที่ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้นำเทคโนโลยี 5G และ NB-IoT เข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานในท่าเทียบเรือ โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2565 จะพัฒนาโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง 31 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 89,700 ล้านหยวน

การเร่งผลักดันการพัฒนาเส้นทางเชื่อมออกสู่ทะเลในทุกมิติ นอกจากการพัฒนาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ให้เป็นท่าเรือระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลกว่างซีกำลังพัฒนาให้ระบบงานขนส่งทางรถไฟ ถนน และแม่น้ำ สามารถเชื่อมไปสู่ทะเลที่อ่าวเป่ยปู้ โดยเฉพาะการเชื่อมงานขนส่งระหว่างแม่น้ำซีเจียง (แม่น้ำสายหลักที่ใช้สำหรับงานขนส่งสินค้า) กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และโครงการขุดคลองขนส่งผิงลู่เชื่อมนครหนานหนิงกับท่าเรือชินโจว (คล้ายกับคลองปานามา) โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2565 จะดำเนินโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมทางบกกับทะเลที่สำคัญ 29 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 441,400 ล้านหยวน และโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมแม่น้ำกับทะเลที่สำคัญ 8 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 135,100 ล้านหยวน

การพัฒนา ท่าอากาศยาน รองรับงานขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (อาคารผู้โดยสาร 3) กับศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre – GTC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง และศูนย์ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo Complex) และโครงการขยายพื้นที่จอดเครื่องบินในสนามบินเมืองเป๋ยไห่ และโครงการก่อสร้างสนามบินฝางเฉิงก่าง โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2565 จะพัฒนาโครงการก่อสร้างที่สำคัญ 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 9,400 ล้านหยวน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็ว ปริมาณการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์สามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีระดับการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของท่าเรือชายฝั่งทะเลของประเทศจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก Chinaports.com ชี้ว่า ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา การขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สินค้าของท่าเรือในพื้นที่จีนตอนใต้มีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ เพิ่มขึ้น 31.0% (YoY) และท่าเรือในมณฑลกวางตุ้ง เช่น ท่าเรือฝอซาน (17.7%) ท่าเรือซัวเถา (12.7%) และท่าเรือตงก่วน (+12.5%)

การพัฒนายุทธศาสตร์ระเบียง ILSTC ที่มีโมเดลการขนส่งแบบต่อเนื่อง “เรือ+รถไฟ” เป็นตัวชูโรง ทำให้ผู้ค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า (แถมยังมีนโยบายการให้เงินอุดหนุน) จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ดึงดูดผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ จนกระทั่งท่าเรืออ่าวเป่ยปู้สามารถเปลี่ยนจากม้านอกสายตาเบียดเข้าไปติด 1 ใน 30 ท่าเรือขนาดใหญ่ของประเทศจีน (China’s Top 30 Ports) ณ เดือนตุลาคม 2563 อยู่ในอันดับที่ 14 ในแง่ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ และอันดับที่ 17 ในเชิงปริมาณขนถ่ายสินค้า

สำหรับประเทศไทย ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และท่าเรือแหลมฉบัง มีความร่วมมือด้านท่าเรือระหว่างกันอยู่แล้ว โดยมีสายเรือ 3 รายให้บริการอยู่ ได้แก่ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC ที่ใช้เวลาขนส่งสั้นสุดเพียง 4 วันเท่านั้น จึงเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (
广西日报) วันที่ 03 พฤศจิกายน 2563
เว็บไซต์ www.chinaports.com (
中国港口)
ภาพประกอบ http://zmqzcyyq.gxzf.gov.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]