ไฮไลท์
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อส่งผลให้สายการบินจำนวนมากต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่สะสมเพิ่มขึ้น กอปรกับการฟื้นตัวภาคการผลิตของจีนและความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น สายการบิน Royal Air Philippines จึงปรับกลยุทธ์รับมือด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าในเส้นทางนครหนานหนิง-กรุงมะนิลา
- ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศุลกากรหนานหนิง ทำให้การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากรมีความสะดวกและรวดเร็ว โดยผู้ค้า e-Commerce ข้ามแดนเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการปรับกลยุทธ์นี้ อีกทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
- ปัจจุบัน สนามบินหนานหนิงอยู่ระหว่างการสร้าง “ศูนย์บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” ซึ่งจะเป็น Cargo Complex รองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
- สำหรับประเทศไทย การขนส่งสินค้าทางอากาศนี้เหมาะกับการขนส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึง ผลไม้สดและสัตว์มีชีวิต โดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) ที่เคยนำเข้ามาบ้างแล้ว เนื่องจากสนามบินหนานหนิงได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตของจีน โดยผู้ค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของนครหนานหนิงในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตของไทยในจีน ทั้งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก และการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศส่งผลให้สายการบินทั่วโลกทยอยลดเที่ยวบินหรือหยุดให้บริการขนส่งผู้โดยสารอย่างไม่มีกำหนด โดยท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงได้ระงับเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการนำเข้าโรคระบาดจากต่างประเทศ ปัจจุบัน มีเพียงเที่ยวบินที่ไปรับพลเมืองจีนกลับประเทศเท่านั้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อส่งผลให้สายการบินจำนวนมากต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่สะสมเพิ่มขึ้น กอปรกับการฟื้นตัวภาคการผลิตของจีนและความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น สายการบินจึงปรับกลยุทธ์รับมือด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า(ชั่วคราว)
สายการบิน Royal Air Philippines เที่ยวบิน RW411 เส้นทางบิน “นครหนานหนิง-กรุงมะนิลา” เป็นสายการบิน รายที่สอง ต่อจาก China Southern Airlines เส้นทาง “นครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์” และเป็นสายการต่างชาติรายแรกที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเป็นบริการขนส่งสินค้า โดย Royal Air Philippines ได้วางแผนงานระยะแรกว่าจะให้บริการขนสินค้าจำนวน 9 เที่ยว
สำหรับเที่ยวบินเที่ยวแรกได้บรรทุกสินค้าน้ำหนัก 6.5 ตัน เป็นสินค้า e-Commerce ข้ามแดนจากเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิง (Nanning Integrated Free Trade Zone/南宁综合保税区) ที่ขนส่งไปจำหน่ายที่ประเทศฟิลิปปินส์ อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศุลกากรหนานหนิง ซึ่งรับผิดชอบด่านสากลทั่วกว่างซี ทำให้การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากรมีความสะดวกและรวดเร็ว ช่วยให้ผู้ค้า e-Commerce ข้ามแดนสามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
จากสถิติตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์หนานหนิงได้ตรวจรับพัสดุภัณฑ์ไปแล้ว 2.698 ล้านชิ้น น้ำหนักรวม 809.5 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของจำเป็นที่ใช้เพื่อป้องกันโรคระบาด เช่น หน้ากากอนามัย แว่นป้องกันละอองฝอย ชุดป้องกัน (PPE) และยาสมุนไพรจีน
ในระยะต่อไป ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์หนานหนิงจะกระชับขั้นตอนบริการด้านการตรวจปล่อยสินค้าเพื่อให้การส่งพัสดุภัณฑ์ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างงานและแรงงานภาคการผลิตให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ข้ามแดนในเขตสินค้าทัณฑ์บนฯ และสนับสนุนการขยายตัวของการค้าต่างประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นครหนานหนิง” เป็นสมาชิกใหม่ในบัญชีรายชื่อเมืองที่รัฐบาลกลางอนุมัติให้จัดตั้งเป็นพื้นที่ทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนแบบครบวงจร (CBEC) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเป็นพื้นที่นำร่องการค้าออนไลน์และธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การชำระเงิน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร การคืนภาษี และการชำระบัญชีเงินโอน เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาการค้าออนไลน์ข้ามแดนอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์พื้นที่ทดลอง CBEC แบบครบวงจรนครหนานหนิงได้มีการกำหนดให้ “เขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิง” (Nanning Integrated Free Trade Zone/南宁综合保税区) เป็นศูนย์กลาง มีการจัดตั้งศูนย์ CBEC ของบริษัทหนานต้าเหมิน (南大门跨境电商保税直购中心) ภายในเขตสินค้าทัณฑ์บนฯ เพื่อใช้เป็นฐานธุรกิจ e-Commerce ครอบคลุมภูมิภาคจีนตะวันตก จีนตอนล่าง และประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ผ่านมา บริษัทหนานต้าเหมินได้จัดส่งพัสดุภัณฑ์ทางเครื่องบินไปอาเซียนแล้ว 2.83 แสนบิล รวมมูลค่ากว่า 17.69 ล้านหยวน
ปัจจุบัน “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมณฑล ตั้งอยู่ห่างจาก ตัวเมืองราว 30 กิโลเมตร ในปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 15.76 ล้านคน คิดเป็น 54.28% ของทั้งมณฑล (อันดับ 7 ของ ภาคตะวันตก และอันดับ 26 จาก 239 แห่งทั่วประเทศ) มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 1.22 แสนตัน (อันดับ 27 ของประเทศ) มีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง 1.14 แสนเที่ยว (อันดับ 30 ของประเทศ) และมีอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยวบินอยู่ที่ 137.47 คน/ครั้ง
สนามบินแห่งนี้อยู่ระหว่างการสร้าง “ศูนย์บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” ซึ่งจะเป็น Cargo Complex รองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ขณะนี้ มีบริษัท Guangxi Shunfeng Express ที่ให้บริการเครื่องบินคาร์โก้แบบเที่ยวประจำในเส้นทาง “นครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์” ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง B797-300 แบบเที่ยวบินไป-กลับ ให้บริการสัปดาห์ละ 5 เที่ยว
การเปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าช่วยลดวงจรโลจิสติกส์ (Logistics cycle) ของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนประกอบกิจการ ยกระดับฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียงส่งสินค้ามารวมไว้ที่ นครหนานหนิง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้า และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย การขนส่งสินค้าทางอากาศจะไม่ใช่ช่องทางหลักในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภททั่วไป เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย การค้าต่างประเทศส่วนใหญ่จึงใช้การขนส่งทางบก (ถนนสาย R8 R9 และ R12) และทางทะเล (ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) อย่างไรก็ดี การขนส่งสินค้าทางอากาศนั้นเหมาะกับการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่กว่างซีนำเข้าจากประเทศไทย รวมถึงผลไม้สด (เกรดพรีเมียมหรือมีอายุการเก็บรักษาสั้น) และสัตว์มีชีวิต โดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) ที่เคยนำเข้ามาบ้าง ซึ่งสนามบิน หนานหนิงได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตของจีนแล้ว
ดังนั้น ผู้ส่งออกสัตว์น้ำไทยสามารถพัฒนาเส้นทางขนส่งทางอากาศให้เป็นเที่ยวประจำ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของนครหนานหนิงในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตของไทยในจีน ทั้งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก และการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตลาดผู้บริโภคในพื้นที่จีนตอนใต้ มีความนิยมในการบริโภคสัตว์น้ำมีชีวิตมากกว่าสัตว์น้ำแช่แข็ง
อนึ่ง ในส่วนของเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ซึ่งในช่วงนี้มีเพียงสายการบิน Guangxi Beibu Airlines ให้บริการสัปดาห์ละเที่ยว จะเป็นการขนส่งสินค้าแบบไม่ประจำ ขณะที่เส้นทางขากลับ “กรุงเทพฯ-นครหนานหนิง” จะเป็นการขนส่งผู้โดยสารจากไทยเป็นหลัก
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 12 กรกฎาคม 2563
เว็บไซต์ www.caac.gov.cn (中国民航局)
รูปภาพประกอบ www.aircargoworld.com และ www.insidelogistics.ca