กว่างซีส่งเสริม “ธุรกิจกล้วยไม้” หรือจะเป็นคู่แข่งไทยในอนาคต

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเร่งเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม “กล้วยไม้” ในอำเภอตงหลานของเมืองเหอฉืออย่างจริงจัง ผ่านโมเดล “สวนอุตสาหกรรมกล้วยไม้เชิงนิเวศแบบครบวงจร” เป็นทั้งสวนเพาะพันธุ์และจำหน่ายกล้วยไม้และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมกล้วยไม้ของกว่างซี
  • การพัฒนาธุรกิจกล้วยไม้ในอำเภอตงหลานเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้สำหรับประเทศไทย เป็นการพัฒนาธุรกิจแบบผสมผสานและครบวงจรที่เน้นการปลูกกล้วยไม้เป็นธุรกิจหลัก ร่วมกับดอกไม้และพืชผักผลไม้ที่ได้ผลผลิตสูงเป็นธุรกิจเสริม มีการวิจัย บ่มเพาะ (incubator) จัดแสดง ท่องเที่ยว และฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดรับกับช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์จีน วันชาติจีน และช่วงก่อนตรุษจีน
  • ผู้ส่งออกกล้วยไม้ควรเตรียมรับมือกับการพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แม้ว่าการเพาะกล้วยไม้ของจีนในขณะนี้ยังไม่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์(เมื่อเทียบกับไทย) แต่เชื่อว่าการพัฒนาองค์ความรู้และความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการวิจัยของจีนจะช่วยให้ธุรกิจกล้วยไม้ส่งออกของจีนก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ในไม่ช้า
  • ภาครัฐและเอกชนไทยต้องช่วยกันเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของกล้วยไม้ไทยในตลาดจีน โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่มีรูปทรงดอก กลิ่น และสีที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยไม้ส่งออกให้แปลกใหม่เพื่อขยายช่องทางตลาดในจีน เช่น กล้วยไม้ประดับระเบียงคอนโด กล้วยไม้ขวด และที่สำคัญ ผู้ส่งออกจะต้องมีระบบการบริหารจัดการโรงเรือนและการป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญในการโกอินเตอร์ไปตลาดจีน

 

แวดวงธุรกิจกล้วยไม้ไทยต้องตื่นตัว หลังจากที่เขตปกครองตนเองกว่างซีเร่งเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ในอำเภอตงหลาน (Donglan County/东兰县) ของเมืองเหอฉืออย่างจริงจัง ผ่านโมเดล “สวนอุตสาหกรรมกล้วยไม้เชิงนิเวศแบบครบวงจร” เป็นทั้งสวนเพาะพันธุ์และจำหน่ายกล้วยไม้และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของกว่างซี

สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรของอำเภอหลานตงเอื้อต่อการเพาะปลูกกล้วยไม้ ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงสนับสนุนให้อำเภอตงหลานเร่งพัฒนาการเพาะปลูกกล้วยไม้ให้เป็นระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีงาน มีรายได้ และหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน

การพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ในอำเภอตงหลานมี “สวนอุตสาหกรรมกล้วยไม้เชิงนิเวศจีน(ตงหลาน)-อาเซียน” (中国—东盟(东兰)兰花森林生态产业园) เป็นกรอบโครงการหลัก เกิดจากการรวมกลุ่มสวนกล้วยไม้เอกชนรายหลายในอำเภอ สวนกล้วยไม้ชีเซียน The Fairy Mountain (神仙山七仙兰园) ของบริษัท Donglan JunLan Agricultural Science and Technology Co.,Ltd (东兰君兰农业科技有限公司) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนอุตสาหกรรมดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 เฟส คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 118 ล้านหยวน เน้นการปลูกกล้วยไม้เป็นธุรกิจหลัก ร่วมกับดอกไม้และพืชผักผลไม้ที่ได้ผลผลิตสูงเป็นธุรกิจเสริม ตั้งเป้าเป็นสวนสาธิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีกล้วยไม้ชั้นนำของประเทศ ทั้งการวิจัย บ่มเพาะ (incubator) จัดแสดง ท่องเที่ยว และฝึกอบรม

ปัจจุบัน สวนกล้วยไม้แห่งนี้มีกล้ากล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ มากกว่า 65,000 กระถาง ที่จะทยอยออกดอกใน 3 ช่วงเวลา คือ เทศกาลวาเลนไทน์จีน (ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน) วันชาติจีน ยาวไปจนถึงช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนปีหน้า

ในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนจะเพาะพันธุ์กล้ากล้วยไม้ปีละ 1 ล้านกิ่ง และขยายตลาดเวียดนามและประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะให้กับเกษตรกรยุคใหม่ (New Professional Farmers) และการคลัสเตอร์ธุรกิจกล้วยไม้ในพื้นที่ รวมทั้งการขยายพื้นที่จุดทดลองไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับ 500 คนหลุดพ้นจากความยากจน เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของอำเภอตงหลาน

บีไอซี เห็นว่า การพัฒนาธุรกิจกล้วยไม้ในอำเภอตงหลานเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้สำหรับประเทศไทย เป็นการพัฒนาธุรกิจแบบผสมผสานและครบวงจรที่เน้นการปลูกกล้วยไม้เป็นธุรกิจหลัก พร้อมทั้งธุรกิจเสริม การวิจัย บ่มเพาะ (incubator) จัดแสดง ท่องเที่ยว และฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดรับกับช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์จีน วันชาติจีน และช่วงก่อนตรุษจีน

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางในตลาดจีน สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นตามลิงก์ >>> ขั้นตอนการส่งออกกล้วยไม้ไทยไปจีน ในส่วนของการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอก ภาครัฐและเอกชนไทยต้องช่วยกันเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของกล้วยไม้ไทยในตลาดจีน โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่มีรูปทรงดอก กลิ่น และสีที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยไม้ส่งออกให้แปลกใหม่เพื่อขยายช่องทางตลาดในจีน เช่น กล้วยไม้ประดับระเบียงคอนโด กล้วยไม้ขวด และที่สำคัญ ผู้ส่งออกจะต้องมีระบบการบริหารจัดการโรงเรือนและการป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญในการโกอินเตอร์ไปตลาดจีน

นอกจากนี้ บีไอซี พบว่า โครงสร้างการค้ากล้วยไม้ของประเทศจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย นั่นก็คือ เป็นตลาดผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอก ในปี 2562 มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของจีนอยู่ที่ 143.8 ล้านหยวน ปริมาณส่งออก 60.7 ล้านกิ่ง โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง (48.15% ของทั้งประเทศในแง่มูลค่า) และมณฑลยูนนาน (42.52% ของทั้งประเทศ) ขณะที่การนำเข้ามีจำนวน 1 ล้านกิ่ง โดยนำเข้าจากไต้หวันเป็นหลัก (84.66% ของทั้งประเทศในแง่มูลค่า) และเกาหลีใต้ (10.77% ของทั้งประเทศ) และมณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีการนำเข้ามากที่สุด (สัดส่วน 90.27% ของทั้งประเทศ)

แนวโน้มข้างต้นเป็นอีกสัญญาณเตือนให้ผู้ส่งออกกล้วยไม้ต้องเตรียมรับมือกับการพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แม้ว่าสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนจะไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกกล้วยไม้ ขณะที่การเพาะปลูกของจีนในขณะนี้ยังไม่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์(เมื่อเทียบกับไทย) แต่เชื่อว่าการพัฒนาองค์ความรู้และความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการวิจัยของจีนจะช่วยให้ธุรกิจกล้วยไม้ส่งออกของจีนก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ในไม่ช้า

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2563
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]