• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ผู้ส่งออกต้องเรียนรู้และปรับตัว ทุเรียนไทยต้องมี “บัตรประจำตัว” ก่อนส่งออกไปจีน

ผู้ส่งออกต้องเรียนรู้และปรับตัว ทุเรียนไทยต้องมี “บัตรประจำตัว” ก่อนส่งออกไปจีน

ไฮไลท์

  • หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ QR Code กับแตงโมและขนุนเวียดนามที่ส่งเข้ามายังด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2562 ล่าสุด ได้มีการใช้ QR Code กับทุเรียนไทยล็อตแรกน้ำหนัก 16 ตัน มูลค่า 3.5 แสนหยวนที่ส่งเข้าด่านโหย่วอี้กวาน
  • ความพิเศษของ QR Code คือ การใช้เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงและการลอกเลียนแบบด้วยรหัสหรือสัญลักษณ์ประจำตัว (Identity) ที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง เพียงใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องสแกน QR Code เพื่อตรวจดูข้อมูลจำเพาะของสินค้าได้ภายในเสี้ยววินาที ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคได้มากขึ้น
  • QR Code เป็นมาตรการที่หน่วยงานศุลกากรกว่างซีนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบด่านการค้า แก้ไขปัญหาข้อมูลและสัญลักษณ์กำกับสินค้านำเข้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ผลไม้นำเข้าป้องกันการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดผลไม้ที่มาจากประเทศที่สาม (ผลไม้จากประเทศที่สามที่ไม่ได้รับอนุญาตส่งออกไปประเทศจีน)
  • การที่ทุเรียนไทยติด QR Code ครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้สวนผลไม้และโรงคัดบรรจุผลไม้ในไทยต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความฉุกละหุกในกรณีที่ทางการจีนประกาศบังคับใช้ QR Code อย่างจริงจังในอนาคต

 

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ QR Code กับแตงโมและขนุนเวียดนามที่ส่งเข้ามายังด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2562 ล่าสุด ได้มีการใช้ QR Code กับทุเรียนไทยล็อตแรกน้ำหนัก 16 ตัน มูลค่า 3.5 แสนหยวนที่ส่งเข้าด่านโหย่วอี้กวาน

QR Code นี้ คือ การรับรองมาตรฐานสินค้าโดยใช้สติกเกอร์รับรองคุณภาพจากแหล่งผลิตด้วยกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับการทำ “บัตรประจำตัวประชาชน” ให้กับผลไม้นำเข้านั่นเอง

ความพิเศษของ QR Code คือ การใช้เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงและการลอกเลียนแบบด้วยรหัสหรือสัญลักษณ์ประจำตัว (Identity) ที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองเพียงใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องสแกน QR Code เพื่อตรวจดูข้อมูลจำเพาะของสินค้าได้ภายในเสี้ยววินาที ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นกลไกที่สำนักงานศุลกากรหนานหนิง (ซึ่งรับผิดชอบด่านทั่วมณฑล) นำมาใช้แก้ไขปัญหาข้อมูลและสัญลักษณ์กำกับบนบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ผลไม้นำเข้า ป้องกันการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดผลไม้ที่มาจากประเทศที่สาม (ผลไม้จากประเทศที่สามที่ไม่ได้รับอนุญาตส่งออกไปประเทศจีน)

ที่สำคัญ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการตรวจสอบและควบคุมผลไม้นำเข้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลจำเพาะของสินค้าได้ อาทิ ข้อมูลแหล่งผลิต (ชื่อผู้ผลิต เลขทะเบียนสวนผลไม้ เลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ ชื่อผู้ส่งออก) ข้อมูลโลจิสติกส์ (ป้ายทะเบียนรถบรรทุก หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ และหมายเลขสลักล็อคตู้คอนเทนเนอร์) ข้อมูลฝ่ายนำเข้า (ชื่อด่านนำเข้า ชื่อและที่อยู่ผู้นำเข้า และวิธีการติดต่อ) และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง (ใบรับรองถิ่นกำเนิด ใบรับรองสุขอนามัยพืช)

เทคโนโลยี QR code ดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยบริษัท China Certification & Inspection (Group) Co., Ltd หรือ CCIC (中检集团) สาขากว่างซี ซึ่งบริษัท CCIC ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบและบันทึกภาพสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุในพื้นที่ ตลอดจนขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงตู้คอนเทนเนอร์

หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงมีบทบาทสำคัญด้านการค้าผลไม้ไทย เป็นจุดหมายปลายทางหลักของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยผู้ส่งออกสามารถเลือกรูปแบบการขนส่งและด่านปลายทางที่มีความหลากหลายจากถนน R8 R9 และ R12 เข้าที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวานและด่านทางบกตงซิง หรือจะใช้รถบรรทุกต่อรถไฟที่สถานีด่งดังของเวียดนามเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง และการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชินโจวและท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างได้

ในปี 2562 เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยมากที่สุด โดยเฉพาะทุเรียนที่มีปริมาณนำเข้า 2.61 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43.3% ของทั้งประเทศ รองลงมา ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง (34.5%) และมณฑลยูนนาน (8.8%) และในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าทุเรียนที่ด่านโหย่วอี้กวาน 5.7 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 1,520 ล้านหยวน

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ โดยการติดตามสถานการณ์ วางแผนไว้ล่วงหน้า คำนึงถึงตลาดปลายทาง และลดการพึ่งพิงด่านโหย่วอี้กวานเพียงแห่งเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการระบายรถบรรทุกไม่ทัน โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพื่อทำให้การใช้ประโยชน์จากด่านต่างๆ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

บีไอซี มีข้อสังเกตว่า QR Code เป็นมาตรการที่หน่วยงานศุลกากรกว่างซีนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบด่านการค้าและจัดการกับผลไม้ต่างประเทศที่ปลอมแปลงเป็นผลไม้เวียดนามเพื่อผ่านเข้าด่านในกว่างซี ปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้เวียดนามได้ 9 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย กล้วย ลิ้นจี่ แตงโม เงาะ ขนุน แก้วมังกร และมังคุด ในจำนวนนี้ มีผลไม้ 7 ชนิดที่ทับซ้อนกับไทย ยกเว้นแตงโม และแก้วมังกร

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการส่งสัญญาณให้สวนผลไม้และโรงคัดบรรจุผลไม้ในไทยต้องเริ่มปรับตัวและเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความฉุกละหุกในกรณีที่ทางการจีนประกาศบังคับใช้ QR Code อย่างจริงจังในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด ต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการติดฉลากข้อมูลสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ให้แน่นหนาไม่หลุดลอกง่าย หรือหากเป็นไปได้ควรพิมพ์ลงบนกล่องผลไม้ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลบนฉลากว่าถูกต้องและครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการส่งตู้สินค้ากลับโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีน ณ ด่านปลายทาง

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.customs.gov.cn/nanning_customs/index/index.html (南宁海关) วันที่ 29 พฤษภาคม 2563
รูปประกอบ www.indoneo.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]