• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” ช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

“ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” ช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

ไฮไลท์

  • กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย กำลังทวีบทบาททางสำคัญในภูมิภาคจีนตะวันตก จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็น ทางออกสู่ทะเล ที่สะดวกและรวดเร็วเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันตก และเป็นข้อต่อหลักในยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (ILSTC)
  • ปัจจุบัน มณฑลตอนในของจีนหันมาใช้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ + ราง เพิ่มมากขึ้น เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้พัฒนาระบบรางรถไฟให้สามารถวิ่งเข้าไปถึงเขตปฏิบัติการท่าเรือได้ครบทุกท่าเรือแล้ว และกำลังผลักดันให้มีการขนส่ง “เรือ + ราง” เที่ยวประจำในหลายเส้นทาง
  • รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการเร่งยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับปริมาณขนส่งสินค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ (ระบบโครงสร้างพื้นฐานและร่องน้ำเดินเรือ) ด้านซอฟท์แวร์ (ท่าเรืออัจฉริยะ การลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้า) และการบูรณาการความร่วมมือกับสายเรือ
  • ผู้นำเข้า-ส่งออกของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC ในการขนส่งสินค้ากับมณฑลทางภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกของประเทศจีนได้ ปัจจุบัน สายเรือ SITC มีบริการเดินเรือระหว่างท่าเรือแหลมฉบับ-ท่าเรือชินโจว ใช้เวลาขนส่งเพียง 3-5 วันเท่านั้น โดยสินค้าที่มาถึงท่าเรือแล้วจะได้รับการกระจายสินค้าต่อทางรถบรรทุกหรือทางรถไฟโดยตรง ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วอย่างมาก

 

กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ของกว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย” ประกอบด้วยท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในภูมิภาคจีนตะวันตก เนื่องด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็น “ทางออกสู่ทะเล” ที่สะดวกและรวดเร็วเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันตก

อีกทั้ง ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นข้อต่อหลักในยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ทำให้มณฑลทางภาคตะวันตกหันมาใช้ประโยชน์จากกลุ่มท่าเรือแห่งนี้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลพบว่า ปริมาณสินค้าส่งออกจากหลายมณฑลทางภาคตะวันตกผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ นครฉงชิ่ง มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้อยู่ที่ 53.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.95% (YoY) และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 9.24 แสนTEUs เพิ่มขึ้น 32.6% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในประเทศจีน

ปัจจุบัน มณฑลตอนในของจีนหันมาใช้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ + ราง” เพิ่มมากขึ้น กว่างซีได้พัฒนาระบบรางรถไฟให้สามารถวิ่งเข้าไปถึงเขตปฏิบัติการท่าเรือได้ครบทุกท่าเรือแล้ว และกำลังผลักดันให้มีการขนส่ง “เรือ + ราง” เที่ยวประจำในหลายเส้นทาง

นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการเร่งยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับปริมาณขนส่งสินค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการขยายร่องน้ำเดินเรือเส้นตะวันออกในท่าเรือชินโจว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 โครงการพัฒนาท่าเรือชินโจวให้เป็นท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ 2 ท่าในเขตปฏิบัติการท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะสร้างก่อนภายในปี 2563

ตามรายงาน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้แสดงความพร้อมในการขยายความร่วมมือกับสายเรือจากทั้งในและต่างประเทศที่มีอยู่เดิมและรายใหม่ เพื่อร่วมกันบูรณาการเส้นทางเดินเรือและการรวมสินค้าของสายเรือที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งช่วยเอื้อประโยชน์ระหว่างท่าเรือและสายเรือในการบูรณาการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดแผนการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ว่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในภาพรวมจะต้องใช้ระยะเวลาและมีค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า 30% ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของท่าเรือชั้นนำในประเทศจีน และจะช่วยให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้นำเข้า-ส่งออกของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC ในการขนส่งสินค้ากับมณฑลทางภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกของประเทศจีนได้ ปัจจุบัน สายเรือ SITC (www.sitcline.com) มีบริการเดินเรือระหว่างท่าเรือแหลมฉบับ-ท่าเรือชินโจว ใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 3-5 วันเท่านั้น และเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือแล้ว สามารถกระจายสินค้าทางรถบรรทุกหรือทางรถไฟได้โดยตรง ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วอย่างมาก

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 20 พฤษภาคม 2563
เครดิตภาพ www.pixabay.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]