• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ทีมมหาวิทยาลัยซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประสบความสำเร็จวิจัยต้นแบบเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ขั้นวิกฤต

ทีมมหาวิทยาลัยซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประสบความสำเร็จวิจัยต้นแบบเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ขั้นวิกฤต

ศูนย์วิจัย Shandong Engineering Research Center Magnetic Bearing ซึ่งตั้งอยู่ที่คณะวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยซานตง ประสบความสำเร็จในการวิจัยเครื่องปั๊มเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจด้วยเทคโนโลยี Magnetic Bearing ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยที่เริ่มตั้งแต่ปี 2551 พร้อมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการวิจัยต้นแบบเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO: Extracorporeal Membrane Oxygenation) ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำเข้าเครื่อง ECMO จากต่างประเทศ และทำให้จีนสามารถผลิตอุปกรณ์การแพทย์ระดับไฮเอนด์ได้ด้วยตนเอง

ศาสตราจารย์หลิว ซูฉิน หัวหน้าศูนย์วิจัย Shandong Engineering Research Center Magnetic Bearing กล่าวว่า เครื่อง ECMO เป็นอุปกรณ์การแพทย์ระดับไฮเอนด์ ปัจจุบัน ทั้งประเทศมีทั้งหมด 400 กว่าเครื่อง ในมณฑลซานตงมีประมาณ 20 เครื่อง ในจำนวนนี้อยู่ที่โรงพยาบาลฉีหลู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยซานตง 4 เครื่อง ปัจจุบัน เครื่อง ECMO ในตลาดจีนส่วนใหญ่มี 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ Medtronic, lnc. ของสหรัฐอเมริกา Sorin และ Maquet ของเยอรมนี โดยยี่ห้อ Maquet ของเยอรมนีครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึงร้อยละ 80 ราคานำเข้าประมาณ 1.5 ล้านถึง 2 ล้านหยวน ค่าใช้จ่ายวัสดุสิ้นเปลืองในการเปิดใช้อุปกรณ์โดยปกติประมาณ 40,000 – 60,000 หยวน ซึ่งหากสามารถผลิตเครื่อง ECMO ได้เอง ราคาจะอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 1 ล้านหยวนและค่าใช้จ่ายวัสดุสิ้นเปลืองในการเปิดใช้อุปกรณ์อาจจะลดลงเหลือประมาณ 30,000 หยวน โดยต้นแบบเครื่อง ECMO นี้ ได้ยื่นขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 3 รายการ ได้รับการอนุมัติแล้ว 2 รายการ และอยู่ระหว่างตรวจสอบเนื้อหา 1 รายการ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์หลิวฯ หวังว่าสถาบันอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยเร็ว เพื่อบ่มเพาะผลการวิจัยและทำให้ผู้ป่วยในจีนได้มีโอกาสใช้เครื่อง ECMO ที่ผลิตในประเทศในเร็ววัน

เครื่อง ECMO ใช้พยุงการทำงานของหัวใจและปอดของผู้ป่วยในภาวะวิกฤต ทำหน้าที่ปั๊มเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจร่วมกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทดแทนปอด ซึ่งสามารถใช้ทดแทนหัวใจและปอดได้นานและปลอดภัย โดยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว หลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มขยายไปทั่วจีน โดยในปี 2552 ได้มีการนำเทคโนโลยี ECMO มาใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) และล่าสุดในปี 2563 ได้ใช้เครื่อง ECMO ในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ขั้นวิกฤต ซึ่งย้ำถึงบทบาทสำคัญของเครื่อง ECMO ในการรักษาโรคทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

แหล่งที่มา

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2019/technology-icu

https://www.media.sdu.edu.cn/info/1005/48733.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]