มณฑลฝูเจี้ยนสู่การเป็นฐานการผลิตใบชาที่แข็งแกร่งของจีน

มณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมใบชา โดยเป็นแหล่งกำหนิดของชาอู่หลง โดยมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชาที่มีลักษณะเฉพาะ 5 ประเภท ได้แก่ ชาอู่อี๋เหยียนฉา (Wuyi Rock Teas) ชาเถี่ยกวนอินอานซี ชาขาวฝูติ่ง ชาดอกมะลิฝูโจว และชาแดงฝูเจี้ยน โดยในปี 2564 มณฑลฝูเจี้ยนมีพื้นที่ปลูกชามากกว่า 1.5 ล้านไร่ สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่ปลูกชาทั้งประเทศ และปริมาณการผลิตใบชาจำนวน 487,900 ตัน สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 2.4 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน

ในปี 2564 มณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณการส่งออกใบชาจำนวน 22,000 ตัน สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.9 พันล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มณฑลฝูเจี้ยนส่งออกใบชาจำนวน 12,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยมีมูลค่าการส่งออก 1.32 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 โดยประเภทใบชาที่มณฑลฝูเจี้ยนส่งออก ได้แก่ ชาอู่หลง ชามะลิ ชาขาว ชาเขียว และชาแดง ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และไทย ซึ่งปริมาณการส่งออก  ใบชาจากมณฑลฝูเจี้ยนสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย โดยในปี 2564 มณฑลฝูเจี้ยนได้ส่งออกใบชาไปประเทศไทยจำนวน 1,600 ตัน มูลค่าการส่งออก 102 ล้านหยวน โดยส่วนใหญ่เป็นชาอู่หลง

นอกจากนั้น รัฐบาลฝูเจี้ยนยังให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางการขนส่งใบชาไปยังต่างประเทศยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีการเปิดตัวรถไฟสินค้าจีน – ยุโรปขบวน “ต้าหงเผา” เพื่อขนส่งชาต้าหงเผาจากเมืองอู่อี๋ซานและ     ชาขาวของอำเภอฝูติ่งไปยังกรุงมอสโก รัสเซีย ซึ่งสามารถขนส่งใบชาได้ 10 ตู้มาตรฐาน ใช้ระยะเวลาการขนส่งประมาณ 13 – 14 วัน

รถไฟสินค้าจีน-ยุโรปขบวน “ต้าหงเผา” ขนส่งใบชาจากเมืองอู่อี๋ซานไปกรุงมอสโก

         ในปี 2565 รัฐบาลฝูเจี้ยนตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกใบชาให้สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการส่งออกใบชาให้ได้ร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วน การส่งออกใบชาไปยังตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือให้สูงถึงร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศภายในปี 2568 ปัจจุบัน อุตสาหกรรมชาได้ส่งเสริมการจ้างงานของประชาชนในมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีประชาชนราว 3 ล้านคนทำงานในอุตสาหกรรมชา ทั้งในการผลิต การแปรรูป การขนส่ง และการจัดจำหน่ายชา สามารถคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของกำลังแรงงานเกษตรกรของทั้งมณฑล

อุตสาหกรรมชาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มณฑลฝูเจี้ยนให้การส่งเสริมจนสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจนและสร้างรายได้แก่ชาวชนบทอย่างยั่งยืน ขณะที่การผลิตชาในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะการพัฒนาการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งยังต้องอาศัยการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ และผลักดันให้มีมาตรฐานรับรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) มาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาและเรียนรู้จากผู้ประกอบการจีนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชาตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนกระจายผลิตภัณฑ์ชาของไทยสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้นได้

แหล่งอ้างอิง https://www.sohu.com/a/561421781_239838

http://fj.people.com.cn/n2/2022/0714/c181466-40037224.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]