ความคืบหน้าและแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของนครกุ้ยหยาง – thaibizchina

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลนครกุ้ยหยางได้แถลงข่าวการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของนครกุ้ยหยางในปี 2564 โดยเฉพาะความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสามกลุ่มให้มีระดับแสนล้านหยวนของนครกุ้ยหยาง ได้แก่ บิ๊กดาต้า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของนครกุ้ยหยางในปี 2564 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่า GDP เมือง

ในปี 2564 นครกุ้ยหยางได้พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วยการผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกความเป็นดิจิทัลเข้ากับการผลิตและการบริการ การยกระดับการกำกับดูแลด้านดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการเร่งพัฒนาให้นครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอันกลายเป็นพื้นที่หลักสำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องบิ๊กดาต้าระดับชาติ (National Big Data Pilot Zone) แห่งแรกของจีน และเพื่อให้นครกุ้ยหยางกลายเป็น “หุบเขาดิจิทัลของจีน” (China’s Data Valley) ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีความคืบหน้าของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทั้งสามกลุ่ม ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ในปี 2564 นครกุ้ยหยางดึงดูดโครงการเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าเข้ามาลงทุน 87 โครงการ รวมมูลค่า 7,211 ล้านหยวน นอกจากนี้ ศูนย์บริการคลาวด์ของบริษัทหัวเหวยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดตัวในเขตเมืองใหม่กุ้ยอันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564
  2. อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ เช่น สมาร์ทเทอร์มินัล (Smart Terminals) และการบริการเซิร์ฟเวอร์ ขณะที่ยังคงรักษารากฐานความได้เปรียบของอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดั้งเดิม เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไว้เป็นอย่างดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.7 และคาดว่าภายในปี 2568 อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของนครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอันจะมีมูลค่าการผลิตแตะระดับ 100,000 ล้านหยวน
  3. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ผ่านมานครกุ้ยหยางให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการคลาวด์ (Cloud Service) โดยนครกุ้ยหยางมีข้อได้เปรียบในการเป็นแหล่งรวม “ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่” ของบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายบริษัท เช่น หัวเหวย (Huawei) เทนเซ็นต์ (Tencent) และ Baishan Cloud คาดว่าในปี 2564 นครกุ้ยหยางจะมีรายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์ 36,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของรายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์ทั้งมณฑล และในช่วงสามปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 นครกุ้ยหยางจะมีรายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์เพิ่มเป็นกว่า 50,000 ล้านหยวน

สำหรับในปี 2565 นครกุ้ยหยางจะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวนสามกลุ่มควบคู่ไปกับการเร่งสร้าง “หนึ่งเขต สามพื้นที่” ได้แก่ เขตกลุ่มอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พื้นที่สาธิตนวัตกรรมที่ผนวกเข้ากับบิ๊กดาต้า พื้นที่กำกับดูแลข้อมูล และพื้นที่บริการพลังประมวลผลข้อมูล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของนครกุ้ยหยางให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น  ทั้งนี้ นครกุ้ยหยางถือเป็นหนึ่งใน 8 พื้นที่ของจีนที่ได้รับอนุมัติการก่อสร้าง “ศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564

ที่มา: http://news.gog.cn/system/2022/01/04/018052381.shtml
http://news.gog.cn/system/2022/01/04/018052380.shtml
http://news.gog.cn/system/2022/01/04/018052379.shtml

กุ้ยหยาง กุ้ยโจว ดิจิทัล อุตสาหกรรม

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]