#เรื่องเล่ายามดึก เมื่อจีนกำลังพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น และคำทำนายของเพื่อนชาวจีนที่บอกไว้เมื่อ8ปีก่อนว่า “ประเทศของเขา จะเป็นสากลมากขึ้นอย่างแน่นอน”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี2011 เป็นปีแรกๆที่อ้ายจงได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในจีน ฐานะนักศึกษาปริญญาโททุนรัฐบาลจีน ตอนนั้นไปถึงจีนใหม่ๆก็โดนรับน้องด้วยการโดน “น้ำลาย” จากคนจีนที่ถ่มลงพื้นแล้วกระเด็นมาโดน ขณะยืนรอจ่ายเงิน ณ ร้านขายของชำแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ตอนนั้นรู้สึกงงปนความรับไม่ได้กับพฤติกรรมดังกล่าว อยู่ไปอยู่มาเริ่มเจอเยอะขึ้นเรื่อยๆจนต้องถามเพื่อนชาวจีนที่เรียนระดับปริญญาโทเช่นเดียวกันว่า
“ทำไมคนจีนชอบถ่มน้ำลายลงพื้น?”
“ทำไมคนจีนมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่น่าจะทำ
เช่น ผู้ชายจีนจำนวนมากถกเสื้อขึ้นครึ่งตัว(บางคนถอดเลยก็มี)เดินตามที่สาธารณะไม่เว้นในห้างสรรพสินค้าและรถไฟใต้ดินในช่วงหน้าร้อน
ทำไมถึงสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและภายในร้านอาหาร?”
ประมาณ8ปีก่อน (ณ ขณะนั้น)เพื่อนคนจีนตอบกลับมาว่า” ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย เริ่มเปลี่ยนแล้ว พวกเรากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น รอดูต่อไปแล้วกัน อีกไม่นานหรอก”
คำพูดของเพื่อนยังดังก้องอยู่ในความทรงจำของผม และก็ไม่นานอย่างที่เพื่อนผมบอกเอาไว้
หลังจากวันนั้น ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในจีนในเรื่องของพฤติกรรมประชากร อยู่เรื่อยๆ ในทิศทางที่ดีและมุ่งสู่สากล
เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และถ่มน้ำลายในที่สาธารณะลดลง
เริ่มเห็นนโยบายห้องน้ำสะอาด จนเป็นการปฏิวัติห้องน้ำที่ดังไปทั่วโลก
เริ่มเห็นการแบนและรณรงค์งดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเอาจริงในหลายเมืิองทั่วจีน อย่างเช่นที่เมืองซีอาน ที่อ้ายจงเคยไปใช้ชีวิตสี่ปีที่นั่น ก็มีแคมเปญ “เพื่อความศิวิไลซ์ก้าวสู่สากล งดสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่ในที่สาธารณะ และตามทางเท้า”
เริ่มเห็นการประจานนักท่องเที่ยวจีนทั้งในจีนเองและไปต่างประเทศที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น หยิบของธรรมชาติกลับมาจีน, ขีดเขียนตามสถานที่ท่องเที่ยว, เอะอะโวยวายขณะไปเที่ยว โดยคนจีนถือเรื่อง” เสียหน้า หรือ 丢脸 ” อย่างมาก การไปทำเช่นนั้น โดนคนต่างชาติตำหนิ คนจีนรับไม่ได้ เพราะเป็นการทำให้คนจีนทั้งชาติต้องเสียนั้น ดังนั้นเมื่อมีอยู่ช่วงหนึ่ง นักท่องเที่ยวจีนโดนตำหนิจากหลายประเทศ รัฐบาลจีนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกหนังสือ “มารยาทสากลที่ควรมีขณะไปเที่ยวต่างประเทศ” และ ณ ตอนนั้นจึงถือกำเนิด “ธุรกิจสอนมารยาททางสังคม” ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
เริ่มเห็นการแบนการถ่มน้ำลายลงพื้นและการประจานคนทำผิดในโลกโซเชียลจีน โดยที่แรกๆที่เริ่มแบนการถ่มน้ำลายและมีกฎหมายจับปรับคือที่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง
เริ่มเห็นการแบนกินอาหารในรถไฟฟ้า ถ้าทำผิดโดนตัดเครดิตทางสังคม
เริ่มเห็นคนจีนตำหนิคนจีนกันเองเวลามีแซงคิว
เริ่มเห็นการแบนและปรับคนที่ดึงเสื้อขึ้นครึ่งตัวหรือถอดเสื้อเดินในหน้าร้อน โดยที่เป็นข่าวดังตอนนี้คือที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง แต่ในความจริงมีมาก่อนหน้านั้นในหลายเมืืองของจีน อาทิ เทียนจิน ถ้าใครทำ ปรับสูงสุด 200หยวน (ประมาณ1,000บาท)
และเริ่มเห็นอีกหลายอย่างในทิศทางที่ดีขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในคีย์หลักที่ทำให้จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมประชาชน คือนโยบายภาครัฐที่ต้องการเปิดประเทศจีนให้สากลอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เจริญทางเทคโนโลยีเพียงด้านเดียว
การมอบทุนการศึกษาให้เด็กต่างชาติมาเรียนในจีนรวมถึงมอบทุนให้เด็กจีนไปเรียนต่างประเทศก็เป็นหนึ่งในนโยบายสร้างคนจีนแห่งอนาคต กล่าวคือ เมื่อนักศึกษาต่างชาติเข้ามาในจีน คนในจีนก็จะได้เรียนรู้ความเป็นสากล และคนจีนที่ไปต่างประเทศก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากต่างประเทศว่านอกจีนเป็นอย่างไรบ้าง จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ เครดิตทางสังคมที่จีนก่อตั้งระบบนี้ขึ้นมา ก็เป็นหนึ่งในการสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจีนอย่างยั่งยืน เพราะถ้าไปดูสิ่งที่ทำให้โดนตัดแต้มก็ล้วนเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะการกินอาหารบนรถไฟฟ้า, สูบบุหรี่ที่สาธารณะ, เดินข้ามถนนผิดกฎจราจร เป็นต้น
จีนถือเป็นประเทศต้นแบบ ที่รู้ว่า สิ่งใดไม่ดีและควรเปลี่ยนแปลง พอรู้ ก็ทำอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง