สถิติเผย คนจีนรุ่นใหม่ชีวิตติดหรู มีเงินออมน้อย มีหนี้เยอะ จากนิสัยนิยมซื้อสินค้าหรู Luxury /
แบรนด์เนม
ประเด็นคนจีนรุ่นใหม่มีหนี้สินจากการซื้อสินค้าLuxury เป็นประเด็นดังในโลกออนไลน์จีนตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อ Cui Bo สมาชิกท่านหนึ่งของสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ได้เสนอนโยบาย “เพิ่มภาษีสินค้า Luxury เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของคนรุ่นใหม่” ในการประชุมสองสภาของจีน
Cui ได้เผยข้อมูลว่า “ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการซื้อสินค้า luxuryมากที่สุดในโลก” ซึ่งเมื่อปี2017 สัดส่วนอยู่ที่ 32% และจะพุ่งสูงถึง 46% ในปี2025 ตามข้อมูลจาก Brain &Co. บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีนรุ่นใหม่ (ยุคมิลเลียนเนียม และ Gen Z) ทำให้พวกเขาเหล่านี้ เงินเดือนมักจะหมดก่อนถึงสิ้นเดือน ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่มีเงินเก็บออม หรือมีค่อนข้างน้อย ในขณะที่หนี้สินค่อนข้างสูง จากการใช้บัตรเครดิต หรือช่องทางอื่น เช่น กู้ยืมเงินออนไลน์จาก Alibaba /JD.com / Tencent
ข้อมูลของ Cui สอดคล้องกับผลสำรวจการใช้เงินของชาวจีน โดยธนาคาร HSBC เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า คนจีนในช่วงวัย 24-29ปี อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ พุ่งสูงถึง 1850% โดยเฉลี่ยหนี้โดยรวมในระบบของคนกลุ่มนี้ มากกว่า 120,000 หยวน ต่อคน (ประมาณ600,000บาท)
ทางด้าน Rong360 แพลทฟอร์มกู้ยืมเงินรายใหญ่ของจีน ก็ได้ออกรายงานพฤติกรรมการกู้ยืมเงินของคนจีนช่วงอายุต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า 85%ของผู้สมัครขอกู้เงิน คือคนที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 39ปี ซึ่งกลุ่มอายุ 24-29ปี ครองแชมป์ที่ 37.41% ซึ่งเหตุผลของการเป็นหนี้ ส่วนใหญ่มาจากความต้องการที่จะซื้อสินค้า luxury เพื่อความสะดวกสบายและเสริมโพรไฟล์ตนเองให้สูงขึ้น
Yu สาวจีนวัย26ปี พนักงานการตลาดในมหานครเซี่ยงไฮ้ รับเงินเดือน 9,000 หยวน (ประมาณ 45,000 บาท) โดย 95% ของเงินเดือน หมดไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายจำเป็นและค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองอื่นๆ
Yu เป็น 1 ในคนจีนรุ่นใหม่ ที่นิยมการซื้อสินค้า luxury เฉพาะปีนี้ ซื้อไปแล้วกว่า 92,000 หยวน (ประมาณ460,000 บาท) เกือบจะเท่าเงินเดือนทั้งปีของเธอเลยทีเดียว โดยเธอใช้วงเงินสูงสุดของบัตรเครดิต 4ใบ และ เครดิตออนไลน์จาก Alipay โดยตอนนี้เธอเหลือหนี้อยู่ที่ 56,430 หยวน เสียดอกเบี้ยประมาณ 2,015หยวน ต่อเดือน
เมื่อถาม Yu ในประเด็น “กังวลเรื่องหนี้หรือไม่?” ทางสื่อจีน Jingdaily รายงานว่า “Yu ไม่มีความกังวลใดๆ เพราะเธอเชื่อมั่นว่า พ่อแม่ของเธอจะจ่ายหนี้ให้ เนื่องจากเธอไม่ได้ร้องขอรถหรูเหมือนที่เพื่อนๆเธอทำ”
Chen May Yee ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก กลุ่มงานนวัตกรรม ของ J. Walter Thompson Intelligence บริษัทระดับโลก มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ
” หนุ่มสาวชาวจีนยุคมิลเลียนเนียมและGen Z เกิดมาในยุคนโยบายลูกคนเดียวของจีน พ่อแม่จึงเลี้ยงดูแบบตามใจมากที่สุด ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรู ก็ล้วนมาจากพ่อแม่”
Ref:
https://jingdaily.com/china-luxury-debt/
https://jingdaily.com/china-debt-luxury/
https://jingdaily.com/china-bain/
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง