เรื่องกล้วยๆ ที่กำลังจะไม่กล้วยสำหรับไทยในตลาดจีน

ไฮไลท์

  • “กล้วยหอม” เป็นผลไม้ชนิดแรกของกัมพูชาที่มีโอกาสเข้าตลาดจีน หลังจากรัฐบาลจีนและกัมพูชาได้ร่วมลงนาม “ข้อตกลงการตรวจกักกันโรคสำหรับกล้วยหอมกัมพูชาที่จะส่งเข้าสาธาณรัฐประชาชนจีน” ในเดือนสิงหาคม 2561
  • ความต้องการบริโภคกล้วยหอมนำเข้าในตลาดจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ประเทศจีนอนุญาตการนำเข้ากล้วยหอมจาก 11 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย แม้ว่าฟิลิปปินส์จะยังเป็นเจ้าครองตลาดกล้วยหอมนำเข้าในจีน แต่หลายฝ่ายคาดว่ากัมพูชาจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดจีนในไม่ช้า
  • ปีแรกที่กัมพูชาส่งออกกล้วยหอมไปจีน กัมพูชาได้โดดแซงหน้าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 7 ของจีน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 พบว่า ปริมาณการส่งออกกล้วยหอมของไทยตกลงจากอันดับ 5 ไปอยู่อันดับ 8 ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงจาก 1.51% เหลือเพียง 0.75%
  • ทางการจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ในกัมพูชาเพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงด้านโรคพืชและแมลงศัตรูพืชสำหรับสินค้าเกษตรหลายชนิดของกัมพูชาที่จะส่งออกไปจีนแล้ว อาทิ มะม่วง ลำไย ทุเรียน แก้วมังกร มะพร้าว พริกไทย และรังนก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อฐานสินค้าเกษตรไทยในจีนไม่น้อย
  • ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อบุกตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพและแปลกใหม่ เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand

 

ธุรกิจกล้วยหอม(สด)ของกัมพูชากำลังคึกคึก หลังจากจีนเปิดตลาดกล้วยหอมให้กัมพูชา โดยสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม “ข้อตกลงการตรวจกักกันโรคสำหรับกล้วยหอมกัมพูชาที่จะส่งเข้าสาธาณรัฐประชาชนจีน”  ในเดือนสิงหาคม 2561 ทำให้กล้วยหอมเป็นผลไม้กัมพูชาชนิดแรกที่มีโอกาสเข้าตลาดจีน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 กล้วยหอมกัมพูชาล็อตแรกได้ส่งออกจากท่าเรือสีหนุไปถึงท่าเรือเซี่ยงไฮ้ จำนวน 5 ตู้ รวมน้ำหนัก 100 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 63,800 ดอลลาร์สหรัฐ

เดิมทีกล้วยหอมกัมพูชาที่จะเข้าตลาดจีนก็ต้องใช้วิธีเปลี่ยนสัญชาติเป็นเวียดนาม (เหมือนกับผลไม้ไทย) แต่การลงนามข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลสองประเทศช่วยให้กัมพูชาลดการพึ่งพาเวียดนามในการส่งออกกล้วยหอมไปจีน

แม้ว่าจีนจะสามารถปลูกกล้วยหอมได้ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ ทั้งในมณฑลกวางตุ้ง (45.38% ของทั้งประเทศ) มณฑลยูนนาน (24.87% ของทั้งประเทศ) มณฑลไห่หนาน มณฑลฝูเจี้ยน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง แต่ความต้องการบริโภคกล้วยหอมนำเข้าในตลาดจีนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน จีนอนุญาตการนำเข้ากล้วยหอมจาก 11 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ในปี 2561 จีนมีการนำเข้ากล้วยหอม 1.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50% และในปี 2562 พบว่า ช่วง 11 เดือนแรก มีการนำเข้าแล้ว 1.79 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ (ส่วนแบ่งตลาด 53.17%) เอกวาดอร์ (24.02%) เวียดนาม (14.22%) เมียนมา (4.28%) และโคลอมเบีย (1.02%)

มณฑลที่มีการนำเข้ากล้วยหอมมากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 คือ นครเซี่ยงไฮ้ (สัดส่วน 48.96% ของทั้งประเทศ) มณฑลเหลียวหนิง (21.22%) กรุงปักกิ่ง (7.82%) มณฑลยูนนาน (4.96%) และมณฑลกวางตุ้ง (4.87%)

ทำไมจีนปลูกกล้วยหอมได้ แต่ยังต้องการนำเข้า สาเหตุหลักมาจาก…

  1. แรงจูงใจของเกษตรกรในการปลูกกล้วยหอมลดลง เนื่องจากธุรกิจสวนกล้วยหอมในจีนก้าวสู่ยุค “ต้นทุนสูง” มานานแล้ว ขณะที่ราคาจำหน่ายหน้าสวนมีความผันผวนค่อนข้างมาก เกษตรกรไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา ส่งผลให้กำไรของเกษตรกรลดลง
  2. พันธุ์กล้วยหอมไม่หลากหลาย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ไม่สามารถทนต่อโรคและสภาพอากาศในพื้นที่ และไม่ทนทานต่อการลำเลียงขนส่ง
  3. คุณภาพและรสชาติของกล้วยหอมท้องถิ่นไม่สามารถแข่งขันกับกล้วยหอมนำเข้าได้ ส่งผลให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เทคนิคและความรู้ของเกษตรกรในการปลูกกล้วยปลอดสารพิษ การป้องกันโรคแมลงศัตรูพืช รวมทั้งเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิตยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอ ทำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะพวกสายรักสุขภาพไม่นิยมบริโภคกล้วยท้องถิ่น

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกล้วยหอมของกัมพูชาในตลาดจีน มีดังนี้

  • ปี 2562 กัมพูชาส่งออกกล้วยหอม 1.57 แสนตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดจีน แหล่งปลูกกล้วยหอมสำคัญอยู่ในจังหวัดรัตคีรี จังหวัดกระแจะ และจังหวัดกำปอด มีสวนกล้วยหอมและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองจากบริษัท China Certification and Inspection Group หรือ CCIC (中国检验认证(集团)有限公司) แล้ว 13 แห่ง โดยกระทรวงเกษตรกัมพูชากำลังเร่งเจรจาให้สวนกล้วยหอมและโรงคัดบรรจุกัมพูชาได้รับบัตรผ่านประตูเข้าตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมเพิ่มขึ้น
  • บริษัท Longmate Agriculture เป็นบริษัทร่วมทุนจีน-กัมพูชา และเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจกล้วยหอมในกัมพูชา บริษัทฯ มีฐานการผลิตกล้วยหอมอยู่ในจังหวัดกำปอดของกัมพูชา เพื่อป้อนตลาดจีนเป็นหลัก (นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองต้าเหลียน และเมืองเซินเจิ้น) โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 1 หมื่นเฮกตาร์ และส่งออกกล้วยหอมไปจีน 3.3 หมื่นตัน
  • แม้ว่าฟิลิปปินส์จะยังเป็นเจ้าครองตลาดกล้วยหอมนำเข้าในจีน แต่หลายฝ่ายคาดว่ากัมพูชาจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดจีนในไม่ช้า ช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 7 เดือนที่กัมพูชาส่งกล้วยหอมล็อตแรกเข้าจีน กัมพูชาก็โดดขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกกล้วยหอมอันดับ 7 แซงหน้าประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย (เปรียบเทียบ (YoY) กับปี 2561 ปริมาณการส่งออกกล้วยหอมของไทยตกลงจากอันดับ 5 ไปอยู่อันดับ 8 ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงจาก 1.51% เหลือเพียง 0.75%)
  • นายเฉิน ฉีเซิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท CCIC กัมพูชา เปิดเผยว่า ในอนาคต กัมพูชาจะมีกล้วยหอมส่งออกวันละ 10 ตู้ และจะเพิ่มเป็นวันละ 20-30 ตู้ในเร็วๆ นี้ โดยท่าเรือสีหนุเป็นทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกกล้วยหอมกัมพูชาที่ใช้สำหรับส่งออกไปยังจีน

ตามรายงาน ทางการจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ในประเทศกัมพูชาเพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงด้านโรคพืชและแมลงศัตรูพืชสำหรับสินค้าเกษตรหลายชนิดของกัมพูชาที่จะส่งออกไปจีนแล้ว อาทิ มะม่วง ลำไย ทุเรียน แก้วมังกร มะพร้าว พริกไทย และรังนก (ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิและมันสำปะหลังรายใหญ่ของกัมพูชา) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อฐานสินค้าเกษตรไทยในประเทศจีนไม่น้อย

บีไอซี เห็นว่า สถานการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นอีกสัญญาณให้กับภาคการเกษตรของไทย ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องวางแผนการผลิตและการส่งออกอย่างรอบคอบ ทั้งการส่งออกทั่วไปและการส่งออกช่วงฤดูเทศกาล รวมทั้งประเด็นมาตรฐานสุขอนามัย ซึ่งทางการจีนได้เพิ่มความเข้มงวดขึ้นเป็นอย่างมาก

ผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากจุดกระจายสินค้าแหล่งใหญ่ในจีน เน้นกระจายการส่งออกเพื่อขยายช่องทางการตลาด ลดการพึ่งพาตลาดหลัก (ในมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง) และลดปัญหาการผูกขาดราคาสินค้า หนึ่งในตลาดตัวเลือก ได้แก่ ตลาดผลไม้ไฮกรีน (ภาษาจีนเรียกว่า “ไห่ จี๋ ซิง”/海吉星) ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R12 (นครพนม) และ R9 (มุกดาหาร) ในการลำเลียงผลไม้จากภาคอีสานไทยมายังตลาดจีน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อบุกตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพและแปลกใหม่ เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.chinanews.com (中国新闻网) / www.sohu.com (搜狐网) /  www.ce.cn/中国经济) /  www.sina.com.cn (新浪网) และ www.customs.gov.cn (海关总署官网)
ภาพประกอบ www.pixabay.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]