• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครเฉิงตูเปิดใช้ “ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่” พร้อมเป็นศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางของนครเฉิงตู

นครเฉิงตูเปิดใช้ “ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่” พร้อมเป็นศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางของนครเฉิงตู

 

นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนมีกำหนดเปิดให้บริการ “ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่” (Chengdu Tianfu International Airport)  ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 โดยจะเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งระดับนานาชาติ และจุดเปลี่ยนเครื่องบินภายในประเทศ (Domestic Transit) อีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว

ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่พร้อมให้บริการพื้นที่เพียงบางส่วน และมีแผนสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2588 โดยครอบคลุมพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยทางวิ่งเครื่องบิน 6 เส้น และพื้นที่อาคารผู้โดยสารขนาด 1.26 ล้านตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนและปริมาณการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ 2 ล้านตัน

ภายในท่าอากาศยานฯ ประกอบด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เช่น ระบบตรวจสอบความปลอดภัยอัจฉริยะ บริการระบบเช็คอินด้วยตัวเอง ระบบตรวจสอบการเปิดกระเป๋าทางไกลผ่านวิดีโอคอล หุ่นยนต์นำทางอัจฉริยะ ระบบเช็คอินสัมภาระที่โรงแรม ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือบริเวณจุดนั่งรอขึ้นเครื่องบิน ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ลดระยะเวลาการดำเนินการ แก้ปัญหาการขึ้นเครื่องล่าช้าและพลาดเที่ยวบิน

ในช่วงแรกของการเปิดทำการ ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่จะให้บริการเส้นทางบินไปยังปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น หางโจว หนานจิง เซี่ยเหมิน อู่ฮั่น ลาซา ซานย่า ตี๋ชิ่ง จิ่งกังซาน และจุดหมายปลายทางยอดฮิตอื่น ๆ และหลังจากวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ท่าอากาศยานฯ จะเพิ่มความถี่การบินให้ได้ถึงวันละ 271 เที่ยวบิน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ ในส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติฯ จะทยอยเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และความต้องการของตลาด

โครงข่ายคมนาคม เชื่อมต่อการเดินทางทั่วนครเฉิงตู

ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่จะเชื่อมต่อการคมนาคมกับพื้นที่อื่น ๆ ของนครเฉิงตู ด้วย “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” (Ground Transportation Centre – GTC) ซึ่งมีพื้นที่รวม 274,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างอาคารผู้โดยสาร T1 และ T2 เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแบบครบวงจร สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะ 9 ประเภท ได้แก่ (1) รถไฟใต้ดิน (2) รถไฟความเร็วสูง (3) รถโดยสารสายด่วน (4) แท็กซี่  (5) บริการเรียกรถออนไลน์ (6) รถโดยสารทางไกล (7) รถโดยสารประจำทาง (8) Personal Rapid Transit (PRT รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารทั้งสองแห่ง)  และ (9) รถยนต์ส่วนตัว โดยมีระยะห่างจากทางออกของอาคารผู้โดยสารน้อยกว่า 500 เมตร ทำให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้แบบไร้รอยต่อ

ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดินได้รับการติดตั้งระบบแสดงผลข้อมูลการจราจร 97 หน้าจอ ครอบคลุม 25 จุดสำคัญทั่วทั้งศูนย์การขนส่งฯ โดยแสดงข้อมูลเที่ยวบินขาออก รถโดยสารทางไกล รถโดยสารสายด่วน รถไฟใต้ดิน สถานะการเข้าคิวของผู้โดยสารที่รอรถแท็กซี่ ฯลฯ แบบทันที (real time) เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเลือกรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โอกาสของไทยในอนาคต

ท่าอากาศยานเทียนฝู่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมบทบาทของนครเฉิงตูในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันตกของจีน และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมต่อทั่วทั้งภูมิภาคตะวันตกของจีน รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ไปยังยุโรป แอฟริกา และประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย และน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคมนาคมและกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทยในอนาคต

นอกจากนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานแห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนในภูมิภาคจีนตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพและนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวไทย มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนชาวไทย-จีน ให้มากยิ่งขึ้น และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้

ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของไทยอาจพิจารณาเรียนรู้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับระบบการขนส่งสาธารณะของท่าอากาศยานเทียนฝู่ เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกด้านระบบการขนส่งของไทย ให้ก้าวหน้าและพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยือนไทยอีกครั้ง

ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่  ได้จากบทความ “ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ ว่าที่ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ทางอากาศที่สำคัญแห่งใหม่ของจีนตะวันตก” จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู https://bit.ly/3vN7r0f

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์ Thepaper.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564)

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_13236752

Official Wechat ของ 泰国旅行大师  (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564)

https://mp.weixin.qq.com/s/j2vt0iF8xG1e-tt8N00zyQ

 

ภาพประกอบ: สำนักข่าวซินหัว

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]