• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • โอกาสมะม่วงไทยอยู่ที่ไหน เมื่อจีนก็ผลิตมะม่วงได้เหมือนกัน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

โอกาสมะม่วงไทยอยู่ที่ไหน เมื่อจีนก็ผลิตมะม่วงได้เหมือนกัน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รัฐบาลเมืองไป่เซ่อในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เริ่มวางยุทธศาสตร์ให้ “มะม่วง” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน จนถึงวันนี้ มะม่วงไป่เซ่อได้พัฒนาจนเป็นอุตสาหกรรม มีสายพันธุ์ที่หลากหลายมากถึง 30 สายพันธุ์ และมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
  • มาตรการการจัดระเบียบตลาดมะม่วงของเมืองไป่เซ่อมีขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมะม่วงไป่เซ่อ และเป็นการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของผลมะม่วงที่ออกสู่ตลาด อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองและช่วยให้ผลผลิตมะม่วงได้ราคาดี ซึ่งภาคเกษตรไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้กับผลไม้ไทยได้
  • แม้ว่าที่เมืองไป่เซ่อจะมีการปลูก “มะม่วง” ทับซ้อนกับประเทศไทย แต่..ยังมีโอกาสสำหรับมะม่วงไทย เนื่องจาก ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดที่คลาดกันเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มะม่วงไทยจะเข้ามาขยายตลาดในพื้นที่กว่างซีและกระจายสู่มณฑลอื่นได้ ด้วยที่ตั้งที่มีความใกล้ชิดช่วยให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วในทุกมิติ บวกกับรสชาติ คุณภาพ และเนื้อสัมผัสของมะม่วงไทย เชื่อว่ามะม่วงไทยอยู่ในใจของผู้บริโภคชาวจีนได้ไม่น้อย
  • ข้อควรคำนึงสำหรับผู้ส่งออกไทย คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่ง เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบาง บอบช้ำง่าย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทาน และมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย ร่วมกับการใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลมะม่วง
  • การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างหรือการไลฟ์สด (Live streaming) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยพลเมืองเน็ต (Netizen) ที่มีมหาศาลกว่า 938 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยเกือบ 11 เท่า) และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 986 ล้านคน ลองคิดดูเล่นๆ ว่า… ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก เราจะสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน

 

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นหลายชนิดเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย

เมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งปลูก “มะม่วง” แหล่งใหญ่ของประเทศจีน โดยเฉพาะในอำเภอเถียนหยาง (Tianyang County/田阳县) และอำเภอเถียนตง (Tiandong County/田东县) เป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่มีชื่อเสียงและมีสายพันธุ์มะม่วงที่หลากหลาย โดยมะม่วงไป่เซ่อจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลไป่เซ่อได้จัดแถลงข่าวการเก็บเกี่ยวและจำหน่ายมะม่วงอย่างเป็นทางการ ณ จุดนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า…จะเก็บและจะขายมะม่วง ทำไมต้องจัดงานแถลงข่าว คำตอบ คือ เป็นหนึ่งในมาตรการในการจัดระเบียบตลาดมะม่วงของเมืองไป่เซ่อ เพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมะม่วงไป่เซ่อ และเป็นการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของผลมะม่วงที่ออกสู่ตลาด อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองและช่วยให้ผลผลิตมะม่วงได้ราคาดี ซึ่งภาคเกษตรไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้กับผลไม้ไทยได้

มาตรการดังกล่าวเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลไป่เซ่อได้กำหนดวันเริ่มเก็บเกี่ยวและจำหน่ายมะม่วงสายพันธุ์หลักที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย โดยปีนี้ เมืองไป่เซ่อจะเริ่มเก็บเกี่ยวมะม่วงต้นฤดูในวันที่ 5 และ 10 มิถุนายน 2564 มะม่วงกลางฤดูระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม และมะม่วงปลายฤดูตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมเป็นต้นไป และปีนี้เป็นปีทองของมะม่วงไป่เซ่อ คาดว่าจะมีผลผลิตมะม่วงไป่เซ่อออกสู่ตลาดมากกว่า 9 แสนตัน ซึ่งมีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รัฐบาลไป่เซ่อได้เริ่มวางยุทธศาสตร์ให้ “มะม่วง” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน จนถึงวันนี้ มะม่วงไป่เซ่อได้พัฒนาจนเป็นอุตสาหกรรม มีสายพันธุ์ที่หลากหลายมากถึง 30 สายพันธุ์ และมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงหลากหลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลในปี 2563 พบว่า เมืองไป่เซ่อมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 5.54 แสนไร่ คิดเป็นสัดส่วน 27% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ (ทั้งประเทศ 2.01 ล้านไร่) มีผลผลิตมากกว่า 7.7 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 28% ของผลผลิตทั้งประเทศ (ทั้งประเทศราว 2.78 ล้านตัน) มีมูลค่าการผลิต 4,500 ล้านหยวน โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ Tainongn No.1 (台农一号芒) Guire No.82 (桂热芒82号) Guire No.10 (桂热芒10号) และ Jinhuang (金煌芒)

ในระหว่างปี 2559-2563 อุตสาหกรรมมะม่วงไป่เซ่อช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน 1.92 แสนคน รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมากกว่า 20,000 หยวน รายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 4,000 หยวน ทำให้มะม่วงไป่เซ่อได้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมตัวอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่

แม้ว่าที่เมืองไป่เซ่อจะมีการปลูก “มะม่วง” ที่ทับซ้อนกับประเทศไทย แต่..มะม่วงไทยก็ยังมีโอกาส ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่
(1) ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดที่คลาดกัน เป็นช่องว่างทางการตลาดที่มะม่วงไทยจะเข้ามาขยายตลาดในพื้นที่กว่างซีและกระจายสู่มณฑลอื่นได้ กล่าวคือ มะม่วงไทยออกสู่ตลาดก่อนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ขณะที่มะม่วงไป่เซ่อออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

(2) ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบจากที่ตั้งของไทยที่อยู่ไม่ไกลจากกว่างซี ส่งออกมะม่วงด้วยรถบรรทุกผ่านถนน R8 R9 และ R12 เข้าที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวานและด่านทางบกตงซิง หรือจะใช้รถบรรทุกต่อรถไฟที่สถานีด่งดังของเวียดนามเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง รวมทั้งการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชินโจวและท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างได้ และ

(3) รสชาติ คุณภาพ และเนื้อสัมผัสของมะม่วงไทยกับการที่ “มะม่วง” เป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภค (ทั้งแบบสดและแบบแปรรูป) เชื่อว่ามะม่วงไทยอยู่ในใจของผู้บริโภคชาวจีนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยไปประเทศไทยแล้วรู้สึกติดใจหลังจากได้มีโอกาสลองชิมมะม่วงไทย ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถเดินทางได้ปกติ ทำให้เกิดการหวนระลึกความหลังความอยากรับประทานได้ไม่น้อย

ข้อควรคำนึงสำหรับผู้ส่งออกไทย นอกจากการเลือกเส้นทางการขนส่งแล้ว การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบาง บอบช้ำง่าย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทาน และมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย ร่วมกับการใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลมะม่วง

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสามารถพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายมะม่วงไทยผ่าน (1) แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้าง เช่น taobao.com (淘宝) และ jd.com (京东) (2) ผู้ค้ารายใหญ่ที่มีแอปพลิเคชันหรือมินิโปรแกรมบนมือถือ เช่น Pagoda (百果园) ผู้ค้ารายย่อยใน wechat และ (3) แพลตฟอร์มการไลฟ์สด (Live streaming) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะ Tiktok (抖音) และ Kuaishou (快手)

ด้วยพลเมืองเน็ต (Netizen) ที่มีมหาศาลกว่า 938 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยเกือบ 14.1 เท่า) และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 986 ล้านคน ท่านผู้อ่านลองคิดดูเล่น ๆ ว่า… หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก เราจะสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน

ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และแทบจะแฝงตัวในทุกกิจกรรมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน จึงสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมย่อมสร้างโอกาส “ทำเงิน” ให้กับผู้ที่พร้อมและมองเห็นโอกาสเสมอ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 5 มิถุนายน 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]