• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • วงการแพทย์กว่างซีสู่ดิจิทัลแล้ว เมื่อโรงพยาบาลใช้หมอหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจริง

วงการแพทย์กว่างซีสู่ดิจิทัลแล้ว เมื่อโรงพยาบาลใช้หมอหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจริง

ไฮไลท์

  • การดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Intelligent Healthcare) ได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์และธุรกิจการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยหุ่นยนต์แขนกล Davinci ที่ทีมแพทย์กว่างซีใช้ในการผ่าตัดให้ผู้ป่วยเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของการเข้าสู่ยุคดิจิทัลในวงการแพทย์กว่างซี
  • การใช้หุ่นยนต์แขนกลช่วยผ่าตัดนับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมแพทย์ผ่าตัดสามารถผ่าตัดในจุดที่ยุ่งยากซับซ้อน การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง อีกทั้งผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเดิม ใช้เวลาในการผ่าตัดที่สั้นลง และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • ที่สำคัญ ทีมแพทย์ได้พัฒนาหุ่นยนต์แขนกลเข้ากับเครือข่าย 5G เพื่อใช้งานสำหรับการผ่าตัดผ่านระบบการแพทย์ทางไกล นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ครั้งสำคัญของกว่างซี ซึ่งวงการแพทย์ไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับโรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซี เพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ในการรักษาพยาบาลและตอบสนองความต้องการทางการรักษาให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

 

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ของจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทีมแพทย์โรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซี (The First Affiliated Hospital of Guangxi Medical University/广西医科大学第一附属医院) ได้จัดพิธีเปิดการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล “Davinci XI” ในการผ่าตัดผู้ป่วยอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นพัฒนาการเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า…วงการแพทย์ของกว่างซีได้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า กว่างซีได้เข้าสู่ยุคของการผ่าตัดแผลเล็กด้วยหุ่นยนต์ โดยโรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซีประสบความสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด Davinci รุ่นที่ 3 มาใช้ในการผ่าตัดศัลยกรรมผู้ป่วย จากนั้นเมื่อปี 2562 โรงพยาบาลได้นำหุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด “Davinci XI” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แขนกลที่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นมาใช้เป็นเครื่องแรกในพื้นที่จีนตอนใต้

หุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด Davinci เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของบริษัท Intuitive Surgical (ISPG) จากสหรัฐอเมริกา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) อัจฉริยบุคคลและนักกายวิภาคศาสตร์ชื่อดัง (ผู้วาดภาพโมนาลิซ่า) นับเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดศัลยกรรมที่ทันสมัยที่สุดในโลกปัจจุบัน เป็นแนวคิดการออกแบบหุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (minimally Invasive Surgery-MIS) ด้วยระบบปฏิบัติการ Robot-assisted surgical system

มีการนำหุ่นยนต์แขนกลชนิดนี้มาใช้อย่างแพร่หลายในการศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทรวงอก ระบบทางเดินปัสสาวะ นรีเวชกรรม ศัลยกรรมศีรษะและคอ การผ่าตัดหัวใจ และกุมารศัลยศาสตร์ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถทำการผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอกและศัลยกรรมช่องท้องที่การผ่าตัดแบบส่องกล้องทำไม่ได้ รวมถึงการผ่าตัดเนื้องอกประเภทต่างๆ ด้วย

ลักษณะพิเศษของหุ่นยนต์ Davinci XI คือ ตัวหุ่นมีแขนกล 4 แขน สามารถติดตั้งเครื่องมือแพทย์ได้หลากหลาย แขนกลสามารถหมุนรอบได้ถึง 540 องศา ทำให้เคลื่อนไหวได้อิสระกว่ามือมนุษย์ กล้องที่ให้ภาพขยายที่ลึกและคมชัดแบบ 3 มิติ โดยขยายได้สูงสุด 20 เท่า สามารถนำเครื่องมือต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะบนร่างกายของผู้ป่วยเพื่อทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ โดยศัลยแพทย์จะควบคุมการผ่าตัดทางแผงควบคุมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (ไม่ต้องยืนจับมีดผ่าตัดข้างเตียงผู้ป่วย) ซึ่งจะถ่ายทอดความเคลื่อนไหวจากมือแพทย์ไปยังแขนกลขนาดจิ๋วที่กำลังผ่าตัด

องค์ประกอบหลักในการควบคุมการทำงานแขนกลศัลยแพทย์ประกอบด้วย (1) กล้อง 3 มิติ (3D-HD) ที่มีความลึกและคมชัด สามารถขยายใหญ่ได้ 10 เท่า ช่วยให้แพทย์เห็นภาพเสมือนจริง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจน (2) แผงควบคุม (master console) ที่แพทย์จะต้องนั่งควบคุมการผ่าตัดผ่านหน้าจอ 3 มิติ (3) แขนกล ที่ใช้แทนมือศัลยแพทย์ในการผ่าตัด และสุดท้ายคือ (4) เตียงผู้ป่วย ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานของระบบโดยเฉพาะ

การใช้หุ่นยนต์แขนกลช่วยผ่าตัดเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมแพทย์ผ่าตัดสามารถทำการผ่าตัดในจุดที่ยุ่งยากซับซ้อน การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง อีกทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเดิม ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นลง และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

ที่สำคัญ ทีมแพทย์ได้พัฒนาหุ่นยนต์แขนกลเข้ากับเครือข่าย 5G เพื่อใช้งานสำหรับการผ่าตัดผ่านระบบการแพทย์ทางไกล นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ครั้งสำคัญของกว่างซี ซึ่งวงการแพทย์ไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับโรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซี เพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ในการรักษาพยาบาลและตอบสนองความต้องการทางการรักษาให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2563

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]