สำรวจราคาทุเรียนและมังคุดไทยในนครหนานหนิง

 

ไฮไลท์

  • การเปิดด่านนำเข้าผลไม้ไทยเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจีนให้ความสนใจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสดใหม่ของผลไม้ ในวันนี้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้จริงแล้ว ประเด็นใหม่ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ นั่นก็คือ ราคาผลไม้
  • อย่างการซื้อขายผลไม้ในตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนอย่าง “ตลาดไฮกรีนนครหนานหนิง” ราคามังคุดคัดเกรด 3A แบบขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 16 หยวน ลดลงจากปีที่แล้ว 20%-30% และมังคุดผิวมันจะขายได้ราคาดีกว่ามังคุดผิวลาย
  • ส่วนราคาทุเรียนพบว่า หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกัน ปีที่แล้วทุเรียนยังขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 40 หยวนขึ้นไป แต่ปีนี้ขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 34-36 หยวน โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงทุเรียน Musang King ซึ่งเป็นพันธุ์หายาก มีน้อย และไม่พอขาย
  • ในไตรมาสแรกของปี 2563 ปริมาณส่งออกทุเรียนไทยไปจีนเพิ่มขึ้น 90% (YoY) ซึ่งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย และทำให้ทุเรียนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมากยิ่งไปอีก

 

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 อำเภอระดับเมืองผิงเสียงได้จัดพิธีต้อนรับรถไฟขนส่งผลไม้นำเข้าจากไทยที่ศูนย์โลจิสติกส์ด่านรถไฟผิงเสียงของ ด่านรถไฟผิงเสียง โดยขบวนรถดังกล่าวมีทุเรียนและมังคุดไทย จำนวน 15 ตู้ หลังจากที่ผลไม้เหล่านี้ผ่านการตรวจและกักกันโรคเสร็จแล้วได้กระจายไปยังทั่วประเทศจีน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย และเป็น ช่องทาง ที่ช่วยระบายผลไม้ไทยเข้าสู่จีน โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้

ก่อนหน้านี้ การเปิดด่านนำเข้าผลไม้ไทยเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจีนให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับความสดใหม่ของผลไม้ มาในวันนี้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้จริงแล้ว ประเด็นใหม่ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ นั่นก็คือ ราคาผลไม้

             

ขณะนี้เป็นช่วงที่ทุเรียนและมังคุดกำลังออกสู่ตลาดจำนวนมาก บรรยากาศการซื้อขายผลไม้ในตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนอย่าง “ตลาดไฮกรีนนครหนานหนิง” (ภาษาจีนเรียกว่า “ห่าย จี๋ ซิง” / 海吉星) มีความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยในโซนผลไม้อาเซียนสามารถพบเห็นทุเรียนและมังคุดวางเรียงรายอยู่เต็มหน้าคูหาร้านค้า

เนื่องจาก “ด่านรถไฟผิงเสียง” เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ดังนั้น ผลไม้ไทยที่จำหน่ายในตลาดไฮกรีนส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าด้วยรถบรรทุกผ่านด่านโหย่วอี้กวาน โดยการขนส่งผลไม้จากภาคอีสานไทยไปถึงนครหนานหนิงใช้เวลา 5-7 วัน ผู้ค้าจากมณฑลไห่หนานและมณฑลกวางตุ้งต่างก็เดินทางมาที่กว่างซีเพื่อตัดล็อตซื้อผลไม้ที่ตลาดไฮกรีน

เฮียลี่ ผู้ค้าที่คร่ำหวอดในวงการผลไม้กว่า 20 ปี ให้ข้อมูลว่า “ปีนี้ มังคุดไทยมีปริมาณมาก คุณภาพก็ดี เฮียลี่สามารถขายมังคุดได้วันละ 2 ตู้ รวมน้ำหนักประมาณ 56 ตัน โดยมังคุดคัดเกรด 3A จะขายส่งลังละประมาณ 380 หยวน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 16 หยวน ราคาขายลดลงจากปีที่แล้ว 20%-30% และมังคุดผิวมันจะขายได้ราคาดีกว่ามังคุดผิวลาย”

             

เมื่อพูดถึงราชินีแห่งผลไม้ไทยแล้ว ก็ต้องพูดถึงราชาแห่งผลไม้ไทยอย่าง “ทุเรียน” ข้อมูลจากเว็บไซต์ caexpo.org ชี้ว่า ในไตรมาสแรกของปี 2563 ปริมาณส่งออกทุเรียนไทยไปจีนเพิ่มขึ้น 90% (YoY) ซึ่งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย และทำให้ทุเรียนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมากยิ่งไปอีก

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2563 สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (สคต.) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสำหรับผลไม้ไทย Thai Fruits Golden Months 2020 ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่บริเวณจัตุรัสอินเซี่ยงเฉิง ใจกลางนครหนานหนิง ซึ่งชาวกว่างซีให้การตอบรับอย่างดียิ่ง โดยมียอดการจำหน่ายผลไม้ไทยครั้งนี้รวม 3.05 แสนหยวน แบ่งเป็นยอดการขายออฟไลน์ 2.03 แสนหยวน และยอดขายออนไลน์ 1.02 แสนหยวน ผลไม้ยอดนิยม ได้แก่ ทุเรียน มียอดขายกว่า 1.2 แสนหยวน (ประมาณ 1,400 ลูก) และมังคุด มียอดขายรวม 99,613 หยวน (ประมาณ 5,000 กิโลกรัม)

คุณเหวย ผู้ค้าผลไม้ในตลาดไฮกรีน ให้ข้อมูลว่า “ปีนี้ ทุเรียนราคาลดลงจากปีก่อน ถ้าเทียบจากช่วงเวลาเดียวกัน ปีที่แล้วยังขายทุเรียนกันที่ราคากิโลกรัมละมากกว่า 40 หยวน แต่ปีนี้ขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 30-36 หยวน โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงทุเรียน Musang King ซึ่งเป็นพันธุ์หายาก มีน้อย มาทีไรไม่พอขายทุกที”

ตามรายงาน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 คาดว่าจะมีผลไม้ไทยที่ผ่านเข้า “ด่านรถไฟผิงเสียง” ราว 4,000 ตัน เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟสามารถลำเลียงผลไม้สดชนิดต่างๆ ไปยังทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว (มีความได้เปรียบในการขนส่งในระยะทางไกล) ซึ่งผู้ค้าผลไม้ในตลาดไฮกรีนแสดงความสนใจและจะติดตามความคืบหน้าของการขนส่งช่องทางใหม่นี้อย่างใกล้ชิด

บีไอซี ขอเน้นว่า การเปิดด่านนำเข้าผลไม้แห่งใหม่ในกว่างซี ทั้งด่านทางบกตงซิงและด่านรถไฟผิงเสียง ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการระบายผลไม้ไทยไปจีนและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจำเป็นต้องคำนึงด้วยว่า “ตลาดปลายทาง” อยู่ที่ไหน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะทางถนนหรือทางรถไฟ

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด ต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อและต้องการผลไม้คุณภาพ ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อจากลักษณะภายนอก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ต้องเริ่มต้นจากสวนผลไม้ในการบริหารจัดการแปลงปลูกผลไม้เพื่อให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพดี โรงคัดบรรจุที่ต้องทำความสะอาดผลไม้/คัดเกรดและแยกผลผลิตตามคุณภาพ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ชัดเจน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://mp.weixin.qq.com (广西新闻频道微信公众号) วันที่ 23 พฤษภาคม 2563
เครดิตภาพ https://theculturetrip.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]