• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีเปิดวิ่ง ‘ไฮสปีดเทรน’ เส้นใหม่ใกล้เวียดนามอีกก้าว กรุยทางโครงข่ายรถไฟ trans-asia เชื่อมเวียดนาม – กัมพูชา – ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์

กว่างซีเปิดวิ่ง ‘ไฮสปีดเทรน’ เส้นใหม่ใกล้เวียดนามอีกก้าว กรุยทางโครงข่ายรถไฟ trans-asia เชื่อมเวียดนาม – กัมพูชา – ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์

 

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” ช่วงเส้นทางนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นโครงการที่รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นผู้ลงทุนเอง และเป็น 1 ใน 2 โครงการรถไฟความเร็วสูงไปถึงเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนามของกว่างซี (อีกเส้นทาง คือ ส่วนต่อขยายเมืองท่าฝางเฉิงก่าง – อำเภอระดับเมืองตงซิง อยู่ตรงข้ามจังหวัด Mongcai)

รู้จัก…เส้นทาง “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” มีระยะทาง 200.82 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วงเส้นทาง คือ

  • เส้นทางช่วงแรก “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว มี 5 สถานี มีระยะทาง 119.294 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว ช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง 36 นาที เหลือ 52 นาที (แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงได้รับการออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เขตตัวเมืองนครหนานหนิงจำกัดความเร็วเพื่อลดมลพิษทางเสียง)
  • เส้นทางช่วงที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” มี 4 สถานี มีระยะทางราว 81 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง เส้นทางที่เป็นสะพานและอุโมงค์มีสัดส่วน 86.16% ของเส้นทาง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 จะช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงกว่า

ที่สำคัญ รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะแวะจอดใน “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GTC (Ground Transportation Centre) ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกมิติ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน เครื่องบิน และรถขนส่งสาธารณะ ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ แบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยให้การเดินทางระหว่างตัวเมืองหนานหนิง – สนามบิน เหลือเพียง 15 นาที (จากเดิมที่ใช้รถบัส 45 นาที)

เป้าหมายระยะไกล รถไฟความเร็วสูงสายดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางรถไฟสายทรานซ์-เอเชีย (Trans-Asia Railway Network) เชื่อมกับประเทศเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-นครโฮจิมินต์ – กัมพูชา – ประเทศไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ในอนาคต

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมา สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของกว่างซีในการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ซึ่งกลไกดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วง และอาเซียนก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากเวียดนามสามารถพัฒนารถไฟเส้นทางหลัก “กรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์” และพัฒนาเส้นทางรถไฟจากกรุงฮานอยไปยังพื้นที่ตอนเหนือของเวียดนามได้ ก็จะช่วยให้การส่งผู้โดยสารและสินค้านำเข้า/ส่งออกระหว่างสองพื้นที่เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งผู้ค้าไทยก็อาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวได้ด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดฟังก์ชันเพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วย ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางราว 41,000 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564) และกำลังก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง

รัฐบาลจีนได้พัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่กว่าราว 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างดี

จึงกล่าวได้ว่า เทรนด์การขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟในประเทศจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ค้าไทย โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถเจาะตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุน โดย “นครหนานหนิง” ถือเป็น Hub สำคัญของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยรถไฟความเร็วภายในมณฑลกับต่างมณฑล รวมถึงกับอาเซียนด้วย (ปัจจุบัน มีรถไฟขนส่งสินค้ากับกรุงฮานอย เวียดนาม)

“ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เป็น Key project ของศูนย์โลจิสติกส์ระดับประเทศประเภทท่าเรือบก (dry port) ในนครหนานหนิง และเป็นฐานโลจิสติกส์ที่สำคัญของบริษัท China Railway โดยท่ารถไฟแห่งนี้มีฟังก์ชันการบริการด้านพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างจีน-เวียดนาม (กรุงฮานอย)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 5 ธันวาคม 2565
เว็บไซต์
http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 5 ธันวาคม 2565
        หนังสือพิมพ์หนานหนิง เดลี่ (南宁日报) วันที่ 5 ธันวาคม 2565
        หนังสือพิมพ์หนานหนิง อีฟนิ่ง (南宁晚报) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]