• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ส่านซีเดินสายการผลิตหัวรถจักรรถไฟพลังงานสะอาดรุ่น 2 ตอบโจทย์สิ่งเเวดล้อมและการใช้งานที่หลากหลาย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ส่านซีเดินสายการผลิตหัวรถจักรรถไฟพลังงานสะอาดรุ่น 2 ตอบโจทย์สิ่งเเวดล้อมและการใช้งานที่หลากหลาย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

รถจักรไฟฟ้า (Electric Locomotive) ถือเป็นส่วนสำคัญของระบบการขนส่งสินค้าทางราง ที่ผ่านมาจีนเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรประเภทดีเซล และดีเซลไฟฟ้าที่สำคัญของโลก มีการรถไฟแห่งชาติของจีนเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนาหัวรถจักรในอุตสาหกรรมการก่อสร้างรางรถไฟและการใช้งานเพื่อการขนส่ง ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งชาติครอบครองหัวรถจักรมากกว่า 21,700 ชุด ในจำนวนนี้เป็นหัวรถจักรแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine) 7,800 ชุด และหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า 13,900 ชุด โดยในปี 2564 การรถไฟแห่งชาติสามารถผลิตหัวรถจักรใหม่ได้ 1,105 ชุด เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 1

ล่าสุด ข้อมูลจากรายงาน Statistical analysis of China’s Railway Locomotive Output (中国铁路机车产量统计分析) รายงานภาพรวมการผลิตหัวรถจักรรถไฟ ระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 จีนมีการผลิตหัวรถจักรไปแล้ว 230 ชุด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 26.4 โดยในจำนวนนี้เป็นการผลิตโดยวิสาหกิจขนาดใหญ่ 35 ชุด ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 28.6

ส่านซี ฐานการผลิตหัวรถจักรรถไฟขนาดใหญ่ของจีน      

ข้อมูลจาก Intelligence Research Group ระบุว่า ในปี 2564 การรถไฟแห่งชาติได้จัด 5 อันดับพื้นที่ที่มีการผลิตหัวรถจักรมากที่สุด โดยมณฑลส่านซี สามารถผลิตได้ 270 ชุด เป็นรองเพียงมณฑลเหลียวหนิงที่ผลิตได้ 326 ชุด[1] อย่างไรก็ดี รายงานมิได้จำแนกการผลิตหัวรถจักรรถไฟว่าเป็นแบบดั้งเดิม (ดีเซล/ดีเซลไฟฟ้า) หรือหัวรถจักรไฟฟ้า

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 China Railway Chang’An Heavy Industry Co., Ltd. (CRCHI) (中铁长安重工有限公司) เปิดตัวหัวรถจักรรถไฟพลังงานใหม่ (ไฟฟ้า) รุ่นที่2 (XDC65) ที่วิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง เป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มเดินสายการผลิต ณ เขตเหยียนเหลียง นครซีอาน

หัวรถจักรไฟฟ้านี้ ได้รับการพัฒนารุ่นที่ 1 เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 โดย CRCHI ใช้เวลากว่า 4 ปีในการวิจัยและพัฒนาหัวรถจักรพลังงานใหม่รุ่นที่ 2 โดยเน้น 4 หัวใจหลักคือ (1) การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม ทันสมัย (2) กำลังขับเคลื่อนของหัวรถจักร (3) ระบบการควบคุมอัจฉริยะ และ (4) ความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการควบคุมรถให้เสถียรกว่าเดิม เช่น ระบบ Sensor หยุด/ชะลอความเร็วรถอัตโนมัติเมื่อเจอเนินหรือสิ่งกีดขวาง และที่สำคัญ CRCHI ยังได้ให้ความสำคัญต่อการวิจัยแบตเตอรี่ลิเธียม อันเป็นหัวใจสำคัญของการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าให้ทนทาน และสอดคล้องกับระบบการใช้งานที่ในปัจจุบันเป็นการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด

พิธีเปิดตัวหัวรถจักรไฟฟ้ารุ่นที่ 2 และสายการผลิต ณ เขตเหยียนเหลียง นครซีอาน    

นอกจากการพัฒนาระบบแบตเตอรี่แล้ว รถจักรไฟฟ้ารุ่นที่ 2 นี้ ยังมีจุดเด่น ได้แก่

(1) รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านงานการขนส่งผู้โดยสารในรถไฟใต้ดิน อุโมงค์ เหมืองแร่ และการขนส่งอื่น ๆ ด้วยการพัฒนาให้มีหัวรถจักรสามารถเลือกใส่จำนวนแบตเตอรี่ที่สอดคล้องต่อการใช้งาน ทำให้น้ำหนักของหัวรถจักรสามารถยืดหยุ่นอยู่ที่ 25-85 ตัน / ชุด ต่างหัวรถจักรไฟฟ้ารุ่นที่ 1 ที่กำหนดจำนวนแบตเตอรี่ตายตัว ทำให้มีน้ำหนักสูงถึง 65 ตัน / ชุด

(2) ระบบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ การใช้ระบบ closed-loop vector[1] ระบบ Zero-speed hover technology ตลอดจนระบบควบคุมอัจฉริยะที่ทำให้สามารถลดระยะเวลาการทำงาน (Construction period) ได้กว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นที่ 1

(3) จากผลการทดลองทางห้องปฏิบัติการพบว่าหัวรถจักรไฟฟ้ารุ่นที่ 2 นี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้วันละ 314 กิโลกรัม/หัวรถจักรไฟฟ้า 1 ชุด หรือกว่า 100 ตัน/ปี ซึ่งไม่เพียงสอดคล้องกับเป้าหมายความพยายามในการบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603 ของจีน แต่ยังช่วยลดต้นทุนในการรักษาแวดล้อมได้อีกด้วย

ในช่วงแรกของการผลิตหัวรถจักรไฟฟ้ารุ่นที่ 2 นี้จะเป็นการผลิตเพื่อมุ่งส่งออกไปยังกรุงปักกิ่งและนครกว่างโจวก่อน ด้วยคำสั่งซื้อ 300 ชุด คิดเป็นสัดส่วนตลาดในปัจจุบันถึงร้อยละ 70 [2] ยังมีการคาดการณ์ว่าความต้องการหัวจักรรถไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนได้จากการนำหัวรถจักรไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเป่า-เฉิง (เชื่อมต่อเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี – นครเฉิงตูมณฑลเสฉวน ระยะทาง 669 กม.)[3] การใช้ในการขนส่งถ่านหินในเมืองยวีหลิน แหล่งพลังงานสำคัญของมณฑลส่านซี [4] เส้นทางรถไฟเสียน-ถง (เชื่อมต่อเมืองใหญ่ภายในมณฑลส่านซีได้แก่ เมืองเสียนหยาง-เมืองถงชวน) ระยะทาง 135 กม. [1]
ที่ผ่านมา มณฑลส่านซียังได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและการรถไฟที่เน้นการประหยัดพลังงานเป็นอย่างมาก โดยเทคโนโลยีข้างต้นได้รับรางวัลจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมณฑล สิทธิบัตรและรางวัลประยุกต์การใช้งานยอดเยี่ยมมากถึง 6 รายการ ซึ่ง CRCHI ยังเป็นหน่วยงานที่ครอบครองสิทธิบัตรทางด้านเทคโนโลยีในด้านเครื่องยนต์และระบบสับเปลี่ยนพลังงานในรถไฟกว่า 10 รายการ ถือเป็นสัญญาณของทิศทางการเติบโตที่ให้ความใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น แม้ปัจจุบันยังคงเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตได้ให้ความสนใจต่อการผลิตที่รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยเพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าจะได้รับความนิยมและทดแทนการใช้หัวรถไฟพลังงานดั้งเดิมและถูกใช้งานในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานจะได้ติดตามพัฒนาการและนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไป

                                                        ***************************

 

[1] http://www.zglzw.net.cn/NewsDetail.aspx?id=20791

[1] ระบบการสตาร์ทและปรับความเร็วรอบมอเตอร์ด้วยไดรฟ์อินเวอร์เตอร์

[2] http://www.shaanxi.gov.cn/xw/sxyw/202210/t20221012_2255271.html

[3] http://m.cnwest.com/sxxw/a/2021/12/29/20199347.html

[4] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1669805139234339430&wfr=spider&for=pc

[1] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1726059874408274030&wfr=spider&for=pc

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]