• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เมืองเซี่ยเหมินเร่งพัฒนาการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมืองเซี่ยเหมินเร่งพัฒนาการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมืองเซี่ยเหมินออกแผนปฏิบัติการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (ปี 2565 – 2568) เพื่อส่งเสริมให้มลฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มีความแข็งแกร่งด้านการขนส่งทางอากาศภายในปี 2568 โดยกำหนดมาตรการและเป้าหมายหลัก ดังนี้

3.1 การขยายเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และตั้งเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการขนส่งผ่านท่าอากาศยานเซี่ยเหมินให้สูงกว่า 180,000 ตัน ภายในปี 2566 และสูงกว่า 200,000 ตัน ภายในปี 2567 เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นท่าอากาศยานขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศชั้นนำของจีน

3.2 การให้เงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน รวม 300 ล้านหยวน และเพิ่มเงินอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 1.7 พันล้านหยวน ภายในปี 2568 โดยให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าในเส้นทางโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ สูงสุดไม่เกิน 110 ล้านหยวน และสำหรับผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าในเส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านหยวน

3.3 การขยายเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในกลุ่ม BRICS

3.4 การเร่งก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองเซี่ยเหมินที่เขตเสียงอัน และดึงดูดวิสาหกิจสายการบินและวิสาหกิจโลจิสติกส์ชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัท Shandong Airlines บริษัท China Eastern Airlines บริษัท ‎China Post Group จำกัด และบริษัท SF-Express จำกัด มาจัดตั้งสำนักงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานเซี่ยเหมิน

โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองเซี่ยเหมินที่เขตเสียงอัน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของเมืองเซี่ยเหมินมีความโดดเด่นด้วยปัจจัยเกื้อหนุนจาก (1) โครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมอากาศยานที่เข้มแข็ง (2) มีความพร้อมด้านบุคลากร โดยเมืองเซี่ยเหมินมีการเปิดการเรียนการสอนสาขาวิศวะกรรมการบินที่มีชื่อเสียงที่มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินตั้งแต่ปี 2487 และได้พัฒนาบุคลากรด้านการบินจำนวนมาก และ (3) ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับเกาะไต้หวัน จึงสามารถรองรับการขนส่งชิ้นส่วนประกอบอากาศยานจากไต้หวันได้

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเซี่ยเหมินเป็นท่าอากาศยานหลักแห่งหนึ่งในมณฑลฝูเจี้ยน มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศทั้งหมด 350 เส้นทาง และเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งหมด 47 เส้นทาง คิดเป็นร้อยละ 76 ของจำนวนเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศของทั้งมณฑล เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศในกลุ่ม BRI และประเทศสมาชิกของ BRICS และ RCEP โดยในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานเซี่ยเหมินกว่า 136,600 ตัน สูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล หรือร้อยละ 70 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของทั้งมณฑล

อนึ่ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินแห่งใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และประตูแห่งการเชื่อมโยงกับต่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่ม BRI โดยการก่อสร้างท่าอากาศยาน เซี่ยเหมินแห่งใหม่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบินรวมกว่า 380,000 เที่ยวบินต่อปี รองรับผู้โดยสารกว่า 45 ล้านคนต่อปี และขยายการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 62 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานกว่า 750,000 ตันต่อปี โดยคาดว่า ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองเซี่ยเหมินจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569

แหล่งอ้างอิง http://xm.fjsen.com/2022-07/21/content_31089478.htm

https://swt.fujian.gov.cn/xxgk/jgzn/jgcs/kgc/gzdt/202201/t20220111_5813106.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]