• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จับชีพจรอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และทำความรู้จักเมืองยวี่หลิน “โรงงานยีนส์” ของโลก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

จับชีพจรอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และทำความรู้จักเมืองยวี่หลิน “โรงงานยีนส์” ของโลก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

คำพูดที่ว่า “เสื้อผ้าทุก 3 ชิ้นในโลก จะมี 1 ชิ้นที่ Made in China”  พอจะอธิบายได้ถึงความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของประเทศจีน แม้ว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของจีน ทว่า ในแต่ละปีธุรกิจส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มยังคงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศจีน และประเทศจีนยังคง  ‘ยืนหนึ่ง’ ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มสิ่งทอมีรายได้ผลประกอบการรวม 5.174 ล้านล้านหยวน โต 12.3% (YoY) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ GDP ของประเทศไทยที่มีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท หรือราว 3.05 ล้านหยวน พอจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า…ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของจีนมีขนาดใหญ่แค่ไหน

 

ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 3.155 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 8.4% (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มมีมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 24% (YoY) นับเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558

แล้ว…ประเทศจีนส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปไหน แน่นอนว่า… 1 ใน 4 ตลาดส่งออกหลักของจีนต้องมี ‘อาเซียน’ อยู่ด้วยสัดส่วน 16% ของมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก มีการขยายตัวมากกว่า 24% ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอและกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (อันดับ 1 เป็นสหรัฐอเมริกา ครองสัดส่วน 18% ขณะที่อันดับ 3  EU  ครองสัดส่วน 15% / อันดับ 4 ญี่ปุ่น ครองสัดส่วน 6%) ปฏิเสธไม่ได้ว่า….เสื้อผ้าแฟชั่นที่ขายปลีกขายส่งอยู่แถวประตูน้ำและแถวตลาดโบ๊เบ๊ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มในประเทศจีน ในอดีต อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มมากกว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เจ้อเจียง เจียงซู และซานตง แต่ด้วยต้นทุนแรงงานที่ ‘พุ่ง’ สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงงานในพื้นที่ดังกล่าวต้องขยับขยายหาทำเลที่ตั้งโรงงานใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า โรงงานบิ๊กไซด์บางส่วนย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ขณะที่ โรงงานไซด์กลาง-เล็กได้มอง พื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลางเป็นคำตอบ

ปัจจัยสำคัญของการเลือกทำเลย้ายฐานการผลิต นอกจากต้นทุนค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ฐานประชากรเป็นอีกข้อพิจารณาสำคัญ เจ้าของกิจการจะเลือกเมืองที่มีฐานประชากรเป็นจำนวนมาก เป็นเมือง(บ้านเกิด)ของแรงงานผลัดถิ่นที่ไปทำงานอยู่ในเมืองเจริญทางฝั่งตะวันออก เพราะเป็นแรงจูงใจที่แรงงานผลัดถิ่นเหล่านี้ตัดสินใจกลับไปอยู่ใกล้บ้าน แม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าก็ตาม (เจ้าของโรงงานมักประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี เนื่องจากลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างถิ่นเดินทางกลับภูมิลำเนาไปฉลองเทศกาลตรุษจีนแล้ว บางส่วนไม่กลับมาทำงานอีก)

อันที่จริง กระแสการเคลื่อนย้ายการผลิตไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หลายปีมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เตรียมความพร้อมเต็มที่ในการรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของกว่างซีเช่นเดียวกัน ซึ่งวันนี้ บีไอซี จะนำผู้อ่านไปรู้จักกับเมืองยวี่หลิน (Yulin City/玉林市) เมืองที่กำลังเดินหน้าพัฒนาฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มอยู่

ยวี่หลิน อาจเป็นเมืองที่ฟังดูไม่คุ้นหูสักทีเดียว อันที่จริง เมืองยวี่หลินมีพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการรองรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มอยู่แล้ว เมืองแห่งนี้มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของมณฑล (ราว 7.4 ล้านคน) และเขตฝูเหมียน (Fumian District/福绵区) ของเมืองยวี่หลินได้รับการขนานนามเป็น “เมืองแห่งกางเกง(ยีนส์)ของโลก”  ปีๆ หนึ่งมีกำลังการผลิตกางเกงยีนส์ 1,000 ล้านตัว หรือพอแจกคนไทยทั้งประเทศได้คนละ 15 ตัว

ปัจจุบัน เมืองยวี่หลินมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจร ตั้งแต่การปั่นด้าย ทอผ้า ฟอก ย้อม พิมพ์ ตกแต่งสำเร็จ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย มีสวนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม 6 แห่ง รวมเนื้อที่ราว 10,542 ไร่ รวมพื้นที่โรงงาน 2.58 ล้าน ตร.ม. มีจำนวนโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม 319 ราย (เป็นบริษัทขนาดใหญ่ 85 ราย / บริษัทที่มีมูลค่าการผลิตเกินร้อยล้านหยวน 13 ราย) มีมูลค่าการผลิตต่อปีแตะ 30,000 ล้านหยวน

ปีนี้ เมืองยวี่หลินเร่งบ่มเพาะ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ขณะนี้ เมืองยวี่หลินมีโครงการลงทุนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ระหว่างการเจรจา 149 โครงการ และมีโครงการที่ได้ลงนามสัญญาการลงทุนแล้ว 120 โครงการคิดเป็นมูลค่ารวม 22,000 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ ได้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว 67 โครงการ กล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของเมืองยวี่หลินกำลัง ติดสปีดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

 บีไอซี เห็นว่า บทบาทของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของจีนกับไทยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้การส่งออกให้กับประเทศอย่างมหาศาล และมีตลาดเป้าหมายสำคัญที่เหมือนกันทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงในอาเซียนด้วยกัน แต่ความได้เปรียบด้านต้นทุนและการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มไทยต้องเสียเปรียบจีนอยู่บ้าง

แม้ว่าเมืองยวี่หลินกำลังพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบครบวงจร แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มที่ตนเองมีความถนัดอย่าง ยีนส์และส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจต้นน้ำ-กลางน้ำ จึงเป็นโอกาสที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของไทยสามารถเข้าไปแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต และโอกาสทางลงทุนในธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งเป็นจุดแข็งของธุรกิจไทย โดยเฉพาะงานดีไซน์และตกแต่งสำเร็จ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรวัตถุดิบในพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในประเทศจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม เน้นกลุ่มสินค้า/ตลาดที่ตนเองถนัด โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-บน  ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ (C-Customization) ผ่านการรับรองมาตรฐานด้วย ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง โดยสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มสามารถใช้จุดขายดังกล่าวในการพัฒนาตลาดต่างประเทศได้ต่อไป

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 11 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์
www.miit.gov.cn (中国工信部) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
      เว็บไซต์  www.chyxx.com (产业信息网) วันที่ 25 พฤษภาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]