• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ส่อง “ตลาดแรงงานกว่างซี” ไตรมาส 2/2565 ต้องการแรงงานทักษะ รับเทรนด์ Digital Transformation

ส่อง “ตลาดแรงงานกว่างซี” ไตรมาส 2/2565 ต้องการแรงงานทักษะ รับเทรนด์ Digital Transformation

 

 

ในไตรมาส 2/2565 ตลาดแรงงานในเขตปกครองตนเองกว่างซีกลับมาคึกคักอย่างชัดเจน อัตราการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 4.68 (ตำแหน่งงาน : ผู้สมัครงาน) โดยสาขาการเกษตรมีความต้องการจ้างงานมากที่สุด ขณะที่สาขาอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างลดลงมากที่สุด

เว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซี ได้เปิดเผยรายงานการจ้างงานของเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำไตรมาสที่ 2/2565 โดยระบุว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยในการประกาศจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เงินเดือนเฉลี่ยที่นายจ้างสนนให้กับลูกจ้างอยู่ที่ 5,945 หยวน เพิ่มขึ้น 2.51% (YoY)  สถานการณ์การจ้างงานที่ ‘ลดฮวบ’ ในสาขาอสังหาริมทรัพย์ (-65.2% YoY) และการก่อสร้าง (-53.1% YoY) มีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงในสาขานายหน้าซื้อขายที่พักอาศัย และสาขาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ไฮไลท์ของตลาดแรงงานกว่างซีในไตรมาส 2/2565 คือ ความต้องการจ้างงานในสาขาการผลิตได้เริ่มเปลี่ยนแปลงจาก ‘การผลิตแบบดั้งเดิม’ ไปสู่ ‘การผลิตด้วยเครื่องจักร’ กล่าวคือ ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานทักษะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ทำงานในสาขาการผลิต ซ่อมแซม และให้บริการเกี่ยวกับยานยนต์ และผู้ที่ทำงานในสาขาการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ และสถาบันการแพทย์มีจำนวนลดลง กอปรกับอุตสาหกรรมการผลิตกำลังเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลและความเป็นอัจฉริยะ ทำให้ความต้องการแรงงานทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และวงจรรวม (Integrated circuit) มีความต้องการพุ่งสูงขึ้น 201.44% (YoY) และสูงขึ้น 101.76% (QoQ)

แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) ที่รวดเร็ว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานร่วมกับเครื่องจักรและแรงงานคน ส่งผลให้ความต้องการแรงงานทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงาน Manufacturing Automation เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่ง Reskill และ Upskill ตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเฉพาะด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งนอกจากจะรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมขั้นสูงแล้ว ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะ (talent shortage) ในระยะยาวได้อีกด้วย

สาขาที่เงินเดือนเฉลี่ยปรับตัว ‘เพิ่ม’ มากที่สุด  5 อันดับแรก ได้แก่

  • สาขาการผลิตยานยนต์ ‘พุ่งพรวด’ สูงที่สุดในไตรมาสที่ 2/2565 เงินเดือนเฉลี่ย 8,055 หยวน เพิ่มขึ้น 35.50% (YoY) และเพิ่มขึ้น 42.23% (QoQ)
  • สาขาสื่อสิ่งพิมพ์ เงินเดือนเฉลี่ย 6,958หยวน เพิ่มขึ้น 70.86% (YoY) และเพิ่มขึ้น 39.79% (QoQ) โดยเฉพาะงานบรรณาธิการมอบหมาย (Commissioning Editor)
  • สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เงินเดือนเฉลี่ย 7,103 หยวน เพิ่มขึ้น 19.25% (YoY) และเพิ่มขึ้น 34.45% (QoQ)
  • สาขาการแปล เงินเดือนเฉลี่ย 8,233 หยวน เพิ่มขึ้น 39.53% (YoY) และเพิ่มขึ้น 29.60% (QoQ)
  • สาขาบริหารจัดการ เงินเดือนเฉลี่ย 17,405 หยวน เพิ่มขึ้น 1.54% (YoY) และเพิ่มขึ้น 28.41% (QoQ)

สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (17,405 หยวน) การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ/ประสานงานโครงการ (9,382 หยวน) ไฟฟ้ากำลัง/พลังงาน/ผลิตแร่/รังวัด (8,321 หยวน) พันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า/จัดการลงทุน (8,318 หยวน) ล่าม (8,233 หยวน)

เมืองที่มีค่าตอบแทนการทำงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครหนานหนิง (6,234 หยวน) เมืองชินโจว (5,932 หยวน) เมืองเฮ่อโจว (5,745 หยวน) เมืองกุ้ยก่าง (5,663 หยวน) เมืองฝางเฉิงก่าง (5,651 หยวน) และเมืองกุ้ยหลิน (5,599 หยวน)

บีไอซี ขอเน้นย้ำว่า ‘จีนในวันนี้’ กำลังก้าวเข้ายุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจต่างชาติต้องปรับทัศนะใหม่ การลงทุนในจีนไม่ใช่เพื่ออาศัยค่าแรงถูกอีกต่อไป แต่เป็นการลงทุนเพื่ออาศัยเทคโนโลยีของจีนเป็นสำคัญ และมองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมหาศาล

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่จะไปปักธงลงทุนที่ประเทศจีน ควรติดตามแนวโน้มของค่าตอบแทนการจ้างงานในจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้นทุนในการจ้างงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาก่อตั้งธุรกิจ โดยบีไอซีขอให้ข้อสังเกตว่า ตลาดแรงงานในพื้นที่เจริญทางภาคตะวันออกมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ส่งผลให้ค่าจ้างสูงตามไปด้วย  ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ทางภาคตะวันตกยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่าภาคตะวันออก ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในจีน สามารถพิจารณามณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีนเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจได้

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 02 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์
www.gxrc.com (广西人才网) วันที่ 02 สิงหาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]