• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จับเทรนด์ธุรกิจ… CNPC ยักษ์ใหญ่น้ำมันจีน เบนเข็มลดผลิตน้ำมัน เพิ่มการผลิตปิโตรเคมี ส่องโอกาสและทางเลือกของภาคธุรกิจไทย

จับเทรนด์ธุรกิจ… CNPC ยักษ์ใหญ่น้ำมันจีน เบนเข็มลดผลิตน้ำมัน เพิ่มการผลิตปิโตรเคมี ส่องโอกาสและทางเลือกของภาคธุรกิจไทย

 

ไฮไลท์

  • เมืองชินโจวของกว่างซีเป็นที่ตั้งของ “โรงกลั่นน้ำมันระดับ 10 ล้านตัน” แห่งแรกในภูมิภาคจีนตอนใต้ของ China National Petroleum Corp หรือ CNPC ยักษ์ใหญ่ปิโตรเลียมจีน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 เมืองชินโจวจะมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมทะลุ 2 แสนล้านหยวน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เมืองชินโจวเป็นฐานอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสำคัญระดับประเทศที่มุ่งสู่อาเซียน และตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
  • ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา CNPC ได้ทุ่มเงินลงทุนมูลค่าราว 30,500 ล้านหยวนในการเริ่มปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ โดยจะ “ลดการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและเพิ่มการผลิตปิโตรเคมี” โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลาย นับเป็นย่างก้าวใหม่ในเส้นทาง Low carbon และ Go green ของธุรกิจ
  • การเข้าไปลงทุนของ CNPC ได้ช่วยดึงดูดให้บริษัทชั้นนำด้านปิโตรเคมีทยอยตบเท้าเข้าไปลงทุนในเมืองชินโจวและเริ่มก่อรูปก่อร่างเป็น “คลัสเตอร์ปิโตรเคมี” แล้ว 4 คลัสเตอร์ คือ Olefin, Chemical fiber, Fine Chemicals, New energy materials และทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของเมืองชินโจวก้าวกระโดดจาก “ปิโตรเคมีขั้นต้น” ไปสู่ “วัสดุใหม่ขั้นสูง”
  • เมื่อคำนึงถึงปัจจัยด้านทรัพยากรของไทยที่มีอยู่จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีของไทยต้องเร่งปรับตัว โดยการขยายฐานหรือโรงงานการผลิตปิโตรเคมีไปในประเทศที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีตลาดขนาดใหญ่เป็นทางออกธุรกิจ เชื่อว่า “เมืองชินโจว” จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกเป้าหมายของการก้าวออกไปของภาคธุรกิจปิโตรเคมีไทย โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำ (กลุ่มวัสดุใหม่) ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

เมืองท่าชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น “ฐานโรงกลั่นน้ำมันขนาด 10 ล้านตัน” แห่งแรกในภูมิภาคจีนตอนใต้ของ  China National Petroleum Corp หรือ CNPC บริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในจีน (บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกจากการอันดับของนิตยสาร Fortune เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2564) โดยเริ่มการก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2548 และเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2553 ปัจจุบัน สถานที่ตั้งของฐานโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยชินโจว

ฐานโรงกลั่นน้ำมันของ CNPC ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เลียบฝั่งทะเล มีเนื้อที่มากกว่า 1,583 ไร่ การผลิตใช้น้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน (Jet Fuel) อะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Aromatic hydrocarbons) โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG (Liquefied Petroleum Gas) ยางมะตอย (Asphalt) และซัลเฟอร์ (Sulfur) โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตอบสนองตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

 

            จากการคาดการณ์ในปี 2568 เมืองชินโจวจะมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากกว่า 200,000 ล้านหยวน และมีมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมทะลุ 200,000 ล้านหยวน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เมืองชินโจวเป็นฐานอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสำคัญระดับประเทศที่มุ่งสู่อาเซียน และตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน”

 

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัท CNPC สาขากว่างซีมีปริมาณการแปรรูปน้ำมันดิบสะสม 105 ล้านตัน ผลิตเป็นสินค้าประเภทต่างๆ มากกว่า 98.77 ล้านตัน มูลค่ารวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 51 ล้านหยวน นำส่งภาษีมากกว่า 96,000 ล้านหยวน ซึ่งช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค

บริษัท CNPC ยังได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยระดับโลก เพื่อการบำบัดและป้องกันมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มเดินสายการผลิต บริษัท CNPC ช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองได้เท่ากับถ่านหิน 47.6 ตัน ประหยัดการใช้น้ำได้ 9.74 ล้านตัน และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงทุกปี

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่อย่าง CNPC ได้เริ่มปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ โดยจะ “ลดการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและเพิ่มการผลิตปิโตรเคมี” แผนการเพิ่มการผลิตปิโตรเคมีดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนราว 30,500 ล้านหยวน โดย CNPC ได้เริ่มการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์การแยกเอทิลีนที่มีกำลังการผลิตล้านตันและการแปรรูปในอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ โดยใช้แนฟทาเบา (light naphtha) ที่ได้จากสายการผลิตในโรงกลั่นที่มีอยู่เดิมเป็นวัตถุดิบ

โครงการดังกล่าวช่วยให้ CNPC มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นเพิ่มใหม่ 2.76 ล้านตัน อาทิ เอทิลีน (Ethylene) โพรเพน (Propylene) บิวทาไดอีน (Butadiene) อีกทั้ง ยังสามารถพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ โพลิโอเลฟินาขั้นสูง (Polyolefin) เอทิลีนไวนิลแอซีเตด (Ethylene vinyl acetate, EVA) และยางสไตรีนบิวตาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber, SBR) อีกด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2568 จะลดการใช้น้ำมันปิโตรเลียมได้ 3.49 ล้านตัน และเพิ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้ 3.06 ล้านตัน และจะสร้างมูลค่าการผลิตได้ปีละ 30,000 ล้านหยวน ซึ่งนับเป็นย่างก้าวใหม่ในเส้นทาง Low carbon และ Go green

ที่สำคัญ การเข้าไปลงทุนและการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตของ CNPC ได้ช่วยดึงดูดให้บริษัทชั้นนำด้านปิโตรเคมีทยอยตบเท้าเข้าไปลงทุนในเมืองชินโจวและเริ่มก่อรูปก่อร่างเป็น “คลัสเตอร์ปิโตรเคมี” แล้ว 4 คลัสเตอร์ คือ วัสดุใหม่โอเลฟิน (Olefin) ไฟเบอร์เคมี (Chemical fiber) สารเคมีพิเศษ (Fine Chemicals) และวัสดุพลังงานทางเลือก (New energy materials) บริษัทชั้นนำที่เป็นหัวหอกสำคัญ อาทิ กลุ่มบริษัท Huayi (华谊集团) / กลุ่มบริษัท Hengyi (恒逸集团) และบริษัท CNGR Advanced Materials (中伟集团) ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของเมืองชินโจวก้าวกระโดดจาก “ปิโตรเคมีขั้นต้น” ไปสู่ “วัสดุใหม่ขั้นสูง” (ปิโตรเคมีขั้นปลาย)

บีไอซี เห็นว่า “เมืองชินโจว” เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานเชื้อเพลิงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะปิโตรเคมีและวัสดุ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการด้านพลังงานของไทยด้วย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงานและที่เกี่ยวข้องของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตระหว่างกัน

อีกทั้ง เมื่อคำนึงถึงปัจจัยด้านทรัพยากรของไทยที่มีอยู่จำกัด และแนวโน้มการใช้พลังงานของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีของไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้พลังงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยอาจพิจารณามองหาโอกาสในการขยายฐานหรือโรงงานการผลิตปิโตรเคมีไปในประเทศที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีตลาดขนาดใหญ่เป็นทางออกธุรกิจ ศูนย์บีไอซีเชื่อว่า “เมืองชินโจว” จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกเป้าหมายของการก้าวออกไปของภาคธุรกิจปิโตรเคมีไทย โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำ (กลุ่มวัสดุใหม่) ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 11 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์
http://bbwb.gxzf.gov.cn (广西北部湾经济区规划建设管理办公室) วันที่ 28 กรกฎาคม 2565
เว็บไซต์ www.krungsri.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]