มณฑลเสฉวนมาแรง เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจอาหารกึ่งปรุงสำเร็จในจีน

 

เย็นนี้กินอะไรดี ? ปัญหาชวนปวดหัวของใครหลายคน บางครั้งอยากทานอาหารฝีมือตัวเอง และสะอาดถูกสุขอนามัย แต่กลับไม่มีเวลาซื้อหรือเตรียมวัตถุดิบ ชาวจีนจึงหันมานิยมอาหารกึ่งปรุงสำเร็จมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการล้าง หั่น หมัก เพียงแกะซองแล้วก็สามารถนำไปปรุงสุกได้เลย ตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงานยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ ทำให้ใคร ๆ ก็เป็นเชฟได้

อาหารกึ่งปรุงสำเร็จในจีน (预制菜) ส่วนใหญ่เป็นอาหารหรือวัตถุดิบอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการผลิต ใช้บรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการเก็บรักษาที่สะอาดและทันสมัย สามารถถนอมความสดและรักษารสชาติวัตถุดิบให้คงเดิมเกือบ 100% อาทิ ผักที่หั่นชิ้นมาเรียบร้อยแล้ว เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหั่นและหมักเครื่องเทศ หรืออาหารที่ฉีกซองนำมานึ่งหรืออุ่นในไมโครเวฟ แล้วรับประทานได้เลย

 

 

ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มูลค่าตลาดธุรกิจอาหารกึ่งปรุงสำเร็จในจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยร้อยละ 28.8 ต่อปี และคาดว่า ในปี 2565 มูลค่าตลาดธุรกิจอาหารกึ่งปรุงสำเร็จจะอยู่ที่ 415,150 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4

 

 

ปัจจุบัน ตลาดผู้บริโภคอาหารกึ่งปรุงสำเร็จส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองระดับ 1 และ 2 [1] เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองระดับ 1 และ 2 มีภาระงานหนักและไม่มีเวลาทำอาหาร ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกไปรับประทานอาหารที่ร้านและการสั่งอาหารเดลิเวอรี่จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จากกราฟข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคอาหารกึ่งปรุงสำเร็จมากที่สุดอาศัยอยู่ในเมืองระดับ 1 ร้อยละ 45.7 รองลงมาอาศัยอยู่ในเมืองระดับ 2 และระดับ 3 ร้อยละ 19.8 และ 16.4 ตามลำดับ

มูลเหตุที่ทำให้เทรนด์อาหารกึ่งปรุงสำเร็จมาแรงในจีน ได้แก่ (1) สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวจีน ในอดีตผู้คนใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ และเรียบง่าย การทำอาหารในแต่ละมื้อถือเป็นกิจกรรมนันทนาการอย่างหนึ่งที่สามารถใช้เวลาร่วมกับสมาชิกในครอบครัว แต่ปัจจุบันจังหวะชีวิตของชาวเมืองเปลี่ยนไป การทำอาหารรับประทานเองกลายเป็นการเพิ่มภาระ อาหารกึ่งปรุงสำเร็จจึงช่วยลดภาระลงได้มาก (2) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่าการทำอาหารรับประทานเองที่บ้านย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าการรับประทานอาหารนอกบ้านและการสั่งอาหารเดลิเวอรี่

มณฑลเสฉวน โดยเฉพาะนครเฉิงตู ถือเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารหรือ City of Gastronomy ของยูเนสโก้ และเมื่อปี 2564 อุตสาหกรรมอาหารในมณฑลเสฉวนมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ในจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้ง) นอกจากนี้ NCBD และสถาบันวิจัยธุรกิจจีนยังจัดอันดับให้มณฑลเสฉวนติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองอุตสาหกรรมอาหารกึ่งปรุงสำเร็จ

อาหารไทยมีเครื่องปรุงและขั้นตอนค่อนข้างมาก น่าจะเหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของอาหารที่ฉีกซองแล้วรับประทานได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วในไทย และคาดว่าน่าจะได้รับความนิยม การตอบรับที่ดีในจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดอาหารกึ่งปรุงสำเร็จในจีน

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการบริโภคดังกล่าวในจีน ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยอาจเพิ่มรูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับความนิยมของผู้บริโภค และตรงกับความต้องการของตลาดในพื้นที่นั้น ๆ โดยยังคงรักษารสชาติไทยแท้ของอาหารไว้ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยสู่ชาวจีน และใช้อาหารไทยเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยในจีน หรือผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจในจีน ควรศึกษาแนวโน้มตลาด แสวงหาช่องทางทำธุรกิจห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) และการวิจัยเกี่ยวกับการปรุงแต่งรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ต่อการปรับและเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคชาวจีน รองรับธุรกิจอาหารกึ่งปรุงสำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในจีนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ cdrb (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565)

http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202205/26/c98898.html

เว็บไซต์ 163.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565)

https://www.163.com/dy/article/H82I444S051481OF.html

 

[1] ข้อมูลจากรายงานการจัดอันดับความสามารถทางธุรกิจในปี 2564 (城市商业魅力排行榜)

เมืองระดับ 1 (一线城市 / First tier cities) มีทั้งหมด 19 เมือง แบ่งเป็นเมืองระดับ 1 เดิม ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น เมืองระดับ 1 ใหม่ ได้แก่ นครเฉิงตู นครหางโจว นครฉงชิ่ง นครซีอาน เมืองซูโจว เมืองอู่ฮั่น นครหนานจิง นครเทียนจิน นครเจิ้งโจว นครฉางซา เมืองตงกวน เมืองฝอซาน เมืองหนิงโป เมืองชิงต่าว และนครเสิ่นหยาง

เมืองระดับ 2  (二线城市 / Second-tier City) มีทั้งหมด 30 เมือง ได้แก่ นครเหอเฝย นครฝูโจว เมืองฉวนโจว เมืองเซียะเหมิน นครหลานโจว นครกุ้ยหยาง เมืองจูไห่ เมืองฮุ่ยโจว เมืองจงซาน นครหนานหนิง เมืองสือเจียจวง นครฮาร์บิน นครฉางชุน เมืองฉางโจว เมืองหนานทง เมืองอู๋ซี เมืองสวีโจว เมืองหนานชาง เมืองต้าเหลียน เมืองเหวยฟาง เมืองจี่หนาน เมืองหลินอี้ เมืองหยานไถ เมืองไท่หยวน นครคุนหมิง เมืองเจียซิง เมืองจินหัว เมืองเส้าซิง เมืองไถโจว และเมืองเวินโจว

เมืองระดับ 3 (三线城市 / Third-tier City) มีทั้งหมด 70 เมือง อาทิ นครอูลูมูฉี เมืองกุ้ยหลิน ฯลฯ

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]