บุกตลาดยุโรปผ่านท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว

 

นครเฉิงตูมีที่ตั้งอยู่ใจกลางประเทศจีน เป็นประตูสู่ภาคตะวันตกและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของภูมิภาคจีนตะวันตก นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองสวนสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนี้ ชาวนครเฉิงตูมีศักยภาพสูงในการบริโภค และเน้นการบริโภคเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้นครเฉิงตูเป็นเมืองศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และคมนาคมขนส่งในภูมิภาคจีนตะวันตก และด้วยข้อได้เปรียบที่นครเฉิงตูเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีถิ่นที่ตั้งอยู่ใกล้ยุโรปมากที่สุดของจีน ทำให้การสร้างศูนย์กลางการบินไปยุโรปสามารถประหยัดเวลาได้มากกว่าเมืองอื่นในจีน โดยเฉพาะกรุงบรัสเซลส์ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับรองรับเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป จึงสะดวกต่อการขนส่งต่อไปยังสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 นครเฉิงตูได้เพิ่มเส้นทางขนส่งทางอากาศเชื่อมต่อจีน-ยุโรปด้วยเส้นทางนครเฉิงตู-กรุงบรัสเซลส์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านโลจิสติกส์ทางอากาศรองรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับยุโรป โดยเครื่องบินโบอิ้ง 747-8F ของบริษัท หงหยวน กรุ๊ป ซึ่งดำเนินการบินโดยสายการบินเบลเยียม อินแตอร์เนชันแนล แอร์ เซอร์วิส (BIAS) ได้เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวไปยังท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์ โดยบรรทุกสินค้าประมาณ 130 ตัน (เครื่องบินที่สามารถบรรทุกสินค้าน้ำหนักได้มากที่สุด 135 ตัน) ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และพัสดุอีคอมเมิร์ซ

บริษัท หงหยวน กรุ๊ป มีคลังสินค้าของตนเองในกรุงบรัสเซลส์ ขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถรองรับเที่ยวบินเข้า-ออกได้สัปดาห์ละ 7 เที่ยว (ปริมาณสินค้า 1,400 ตัน) โดยในเดือน พ.ค. 2565 มีกำหนดทำการบินด้วยเส้นทางดังกล่าวสัปดาห์ละ 3 เที่ยว และจะเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 6 เที่ยวในอนาคต นอกจากนี้ บริษัท หงหยวน กรุ๊ปกำลังเตรียมการเปิดใช้งานการขนส่งสินค้าในเส้นทางนครเฉิงตู-นครชิคาโกในเดือน มิ.ย. 2565

นครเฉิงตูมีเที่ยวบินขนส่งสินค้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ตั้งแต่ปี 2562 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-200F ซึ่งมีระวางบรรทุกสินค้า 46 ตัน ของสายการบินเสฉวนแอร์ไลน์

ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวมีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 15 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางอเมริกาเหนือ 1 เส้นทาง (นครชิคาโก) (2) เส้นทางยุโรป 6 เส้นทาง ได้แก่ กรุงมอสโก นครแฟรงก์เฟิร์ต  กรุงบรัสเซลส์ กรุงอัมสเตอร์ดัม กรุงลอนดอน กรุงมาดริด (3) เส้นทางเอเชีย 8 เส้นทาง ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมืองอินชอน กรุงดลี เมืองเจนไน นครโอซากา กรุงโตเกียว กรุงธากา เมืองบังกาลอร์ ทั้งนี้ นครเฉิงตูมีแผนขยายเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่ม โดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ และท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวเชื่อมโยงทั่วทวีปยุโรปและเอเชีย

ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ได้เปิดใช้งานเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ทำให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองที่ 3 ของจีน ที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง (นอกจากกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้) คาดว่าเมื่อมีการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบจะส่งเสริมให้มีการนำเข้าและส่งออกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

การเปิดเส้นทางใหม่ตลอดจนแผนขยายเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 2 แห่ง สะท้อนให้เห็นว่านครเฉิงตูให้ความสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และเร่งยกระดับให้นครเฉิงตูเป็นศูนย์กลางการบินที่ครอบคลุม ครบวงจรและมีคุณภาพสูง การพัฒนาดังกล่าว นอกจากช่วยให้มูลค่าการนำเข้าส่งออกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนและการค้าจากต่างประเทศได้ในอนาคต

 

 

ผู้ประกอบการไทยในจีนและในไทยที่ส่งสินค้ามายังจีนอยู่แล้ว หากประสงค์ส่งสินค้าไปยังยุโรปอาจพิจารณาใช้เส้นทางขนส่งทางอากาศนครเฉิงตู-กรุงบรัสเซลส์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือก นอกจากเส้นทางรถไฟหรงโอวพลัส (เชื่อมจีน-ยุโรป) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรูปแบบการขนส่งประเภทอื่น อาทิ รถยนต์ เรือ โดยใช้ชุดขบวนรถไฟเส้นทาง ILSTC [1] เพื่อเชื่อมต่อจากไทยมายังมณฑลเสฉวน เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับเส้นทางลำเลียงสินค้าและการเปิดกว้างสู่ภายนอกของสินค้าไทยเชื่อมไปสู่ยุโรป และอาจเป็นประโยชน์ในการลดเวลาและต้นทุนค่าขนส่งเข้าสู่ตอนกลางและภาคตะวันตกของจีนด้วย รวมถึงผู้นำเข้าสินค้าจากยุโรปก็สามารถใช้เส้นทางในลักษณะเดียวกันได้ โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ชุดขบวนรถไฟเส้นทาง ILSTC ได้ออกเดินทางจากสถานีในเมืองต่าง ๆ ในมณฑลเสฉวน อาทิ นครเฉิงตู เมืองจื้อก้ง เมืองกว่างหยวน เมืองสุยหนิง ฯลฯ พร้อมกัน เพื่อขนส่งสินค้าไปยัง (1) เมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (2) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว (3) ท่าเรือแหลมฉบัง (4) เมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนาม และ (5) กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยขบวนที่ผ่านประเทศไทยได้บรรทุกวัสดุที่ทำจากโลหะบัดกรี (Solder) และแผ่นใยแก้วประเภท E-glass fiber chopped strand mat ฯลฯ เป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านหยวน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลเส้นทาง ราคา ประเภทสินค้า และนโยบายอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ทางการของ ILSTC https://www.xibulhxtd.cn/index.html

ด้วยความพร้อมด้านการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ และความสามารถด้านการบริโภคของชาวนครเฉิงตู ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเลือกนครเฉิงตูเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ในจีน หรือโกดังสินค้า เพื่อสะดวกต่อการเจาะตลาดจีนตะวันตก และกระจายสินค้าสู่เมือง/มณฑลใกล้เคียง

นอกจากนี้ ภาครัฐไทยควรสนับสนุนความร่วมมือที่มีอยู่และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในการพิจารณาใช้ประโยชน์จาก ILSTC เชื่อมต่อกับรถไฟไทย-จีน และรถไฟจีน-ลาว ให้ไร้รอยต่อในอนาคต รวมถึงความร่วมมือระหว่างท่าเรือชินโจวและท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งหากสองฝ่ายสามารถมีข้อตกลงพิเศษในการลดระยะเวลาดำเนินการทางศุลกากร/ลดภาษีภายใต้ความร่วมมือท่าเรือพี่ท่าเรือน้องก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นในการขนส่งสินค้าเข้าสู่ภูมิภาคจีนตะวันตก

 

[1] ชุดขบวนรถไฟเส้นทาง ILSTC ของมณฑลเสฉวน เป็นเส้นทางรถไฟจากเมืองต่าง ๆ ในมณฑลเสฉวน ผ่านเส้นทางของ ILSTC และสามารถเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่งประเภทอื่นต่อไปยังท่าเรือชินโจว และเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเส้นทางสำคัญ ดังนี้ (1) เส้นทางนครเฉิงตู (ซวงหลิว) – เวียงจันทน์ สปป.ลาว (2) เส้นทางเมืองจื้อก้ง – ท่าเรือชินโจว – กรุงเทพฯ – เมืองไฮฟอง เวียดนาม – กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย (3) เส้นทางเมืองกว่างหยวน – ท่าเรือชินโจว (4) เส้นทางเมืองสุยหนิง – ท่าเรือชินโจว

 

เว็บไซต์ทางการของ Sichuan Scol.com.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

https://sichuan.scol.com.cn/ggxw/202205/58515758.html

เว็บไซต์ทางการของ ILSTC (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

https://www.xibulhxtd.cn/index.html

เว็บไซต์ทางการของสำนักข่าว The Paper New (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

https://m.thepaper.cn/baijiahao_17538497

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]