• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เศรษฐกิจของนครฉงชิ่งไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เศรษฐกิจของนครฉงชิ่งไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

สำนักงานสถิตินครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 GDP ของนครฉงชิ่งมีมูลค่า 639,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นับเป็นการเริ่มต้นปี 2565 ได้อย่างสวยงาม

นาย Yang Hongyi รองผู้อำนวยการและโฆษกสำนักงานสถิติเทศบาลนครฉงชิ่ง เปิดเผยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเติบโตของ  GDP ในไตรมาสแรกของนครฉงชิ่ง ดังนี้

  1. การลงทุนในทรัพย์สินถาวร เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีการออกพันธบัตรพิเศษให้การค้ำประกันทางการเงินสำหรับโครงการดังกล่าว และมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสาย 15 อาคารผู้โดยสาร T3B และรันเวย์สายที่ 4 ของท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ย

นอกจากนี้ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปลายปี 2564 นครฉงชิ่งได้ออกนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแก่วิสาหกิจ เช่น การเลื่อนระยะเวลาการชำระภาษี การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย การควบคุมราคาไฟฟ้าและพลังงาน ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้การลงทุนในโครงการการผลิตต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ต่อเนื่องเป็นเวลา 13 เดือน

ในขณะที่การลงทุนในด้านการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรก การลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 การลงทุนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.8 และการลงทุนด้านวัฒนธรรม-กีฬาเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในโครงการการปรับภูมิทัศน์ชุมชนเก่า การฟื้นฟูและยกระดับภาพลักษณ์ของเมือง

  1. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยนครฉงชิ่งได้ป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมถึงมีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิต ตั้งแต่ต้นปี 2565 นครฉงชิ่งได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านพลังงาน การขนส่ง การจ้างงาน ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการพลังงานที่มากจนเกินไป และสร้างความมีเสถียรภาพ  ของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตได้บรรลุผลสำเร็จ อาทิ ในช่วงมกราคม-มีนาคมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโต 16.8 ผลผลิตยานยนต์พลังงานใหม่เติบโต 2.7 เท่า อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เติบโตร้อยละ 11 อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตร้อยละ 8.7 และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ทั้งนี้ นครฉงชิ่งมีนโยบายการลดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน ลดต้นทุนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งเสริมวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีที่สำคัญ และรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของนครฉงชิ่งสามารถรักษาการเติบโตอย่างมั่นคง

  1. การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของนครฉงชิ่งค่อย ๆ ฟื้นตัว และกลับมาเติบโตในทิศทางบวกอีกครั้ง ยอดขายอสังหาริมทรัพย์มากกว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 91,102 ล้านหยวน และมูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 88,284 ล้านหยวน

ในอนาคตการขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการของตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น คาดกันว่า ภายใต้การรักษาเสถียรภาพราคาที่ดิน ราคาบ้าน ตลอดจนการสนับสนุนที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของนครฉงชิ่งเข้าสู่วัฏจักรที่สมบูรณ์และเกิดการพัฒนาที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน

 

นครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คมนาคม โลจิสติกส์ กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการบริโภคระดับสากล เป็นส่วนสำคัญของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – NILSTC) และเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกจีน มีศักยภาพด้านการค้า   การลงทุน การขนส่ง-โลจิสติกส์ และการอุปโภคบริโภค ประชาชนชาวนครฉงชิ่งมีรายได้สูงและนิยมบริโภคสินค้าจากต่างประเทศ จนทำให้ในปี 2564 นครฉงชิ่งเป็นเมืองที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากนครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจในจีน โดยต้องศึกษาเรียนรู้ข้อมูลทั้งในเชิงลึกและกว้างโดยละเอียดของนครแงชิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

ลำดับที่ รายการ จำนวน เพิ่มขึ้น/ลดลงร้อยละ

(เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564)

1. GDP 639,800 ล้านหยวน +5.2
2. อุตสาหกรรมปฐมภูมิ [1] 28,305 ล้านหยวน +5
3. อุตสาหกรรมทุติยภูมิ [2] 240,395 ล้านหยวน +6.8
4. อุตสาหกรรมตติยภูมิ [3] 371,100 ล้านหยวน +4.2
ด้านอุตสาหกรรม
5. มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน +8.5
6. อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยเคมี +44.8
7. อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เฉพาะ +36.1
8. อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า +25.4
9. อุตสาหกรรมการผลิตยา +18.3
10. อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ +16.8
11. อุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี +13.0
12. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร +10.8
13. อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร +10.7
ด้านการบริโภค
14. ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 351,980 ล้านหยวน +4.2
15. ยอดค้าปลีกรถยนต์พลังงานใหม่ +210
16. ยอดค้าปลีกอุปกรณ์อัจฉริยะประเภทสวมใส่ +23.2
17. ยอดขายปลีกสมาร์ทโฟน +12.7
ด้านการลงทุน
18. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร +10.9
CPI
19. CPI +1
รายได้ประชากร
20. รายได้สุทธิส่วนบุคคล 10,240 หยวน +6.6
21. รายได้สุทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวเมือง 13,183 หยวน +5.8
22. รายได้สุทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวชนบท 5,534 หยวน +7.5
การค้าระหว่างประเทศ
23. มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 197,090 ล้านหยวน +9.3
24. มูลค่าการส่งออก 127,700 ล้านหยวน +14
25. มูลค่าการนำเข้า 69,390 ล้านหยวน +1.6

 

[1] อุตสาหกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ

[2] อุตสาหกรรมทุติยภูมิ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รวมการซ่อมแซมเครื่องจักร อุปกรณ์) การผลิตและการจัดหาไฟฟ้า ก๊าซและน้ำ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ

[3] อุตสาหกรรมตติยภูมิ คือ อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การขนส่ง คลังสินค้าและไปรษณีย์ การส่งข้อมูล บริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมที่พักและอาหาร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใช้เช่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บริการทางเทคนิค การสำรวจทางธรณีวิทยา การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การบริการที่อยู่อาศัย และการบริการอื่น ๆ การศึกษา สุขภาพ ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม กีฬา ความบันเทิง และการท่องเที่ยว ฯลฯ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730686403043878673&wfr=spider&for=pc

เว็บไซต์ทางการของสำนักงานสถิตินครฉงชิ่ง (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)

http://tjj.cq.gov.cn/zwgk_233/fdzdgknr/tjxx/sjjd_55469/202204/t20220420_10636743.html

เว็บไซต์ทางการของศุลกากรนครฉงชิ่ง (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)

http://chongqing.customs.gov.cn/chongqing_customs/515855/515856/4319026/index.html

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]