• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครฉงชิ่งใช้ดิจิทัลหยวนใน “เทศกาลอีคอมเมิร์ซ 6.18” สร้างความคุ้นชินให้ประชาชน

นครฉงชิ่งใช้ดิจิทัลหยวนใน “เทศกาลอีคอมเมิร์ซ 6.18” สร้างความคุ้นชินให้ประชาชน

 

คณะกรรมการพาณิชย์นครฉงชิ่งเปิดเผยว่า เทศกาลอีคอมเมิร์ซ 6.18 ของนครฉงชิ่ง (2022 Chongqing 6.18 E-commerce Festival) ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป และจะนำดิจิทัลหยวนมาใช้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตสาธิตการใช้เงินดิจิทัลหยวนอย่างเป็นทางการพร้อมกับเมืองสำคัญอื่น ๆ ของจีนเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2565

ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. – 5 มิ.ย. 2565 ประชาชนสามารถลงทะเบียนเปิดใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลหยวนได้ที่ห้างสรรพสินค้า Chongqing Banan Wanda Plaza โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีนสาขาฉงชิ่งร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลหยวน อาทิ เมื่อชำระด้วยเงินดิจิทัลหยวนครบ 10 หยวน ลดทันที 9 หยวน และมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมรายการ

เทศกาลอีคอมเมิร์ซ 6.18 ของนครฉงชิ่งในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “การฟื้นฟูชนบท” โดยมีแพลตฟอร์ม VIP.com JD.com Suning.com ฯลฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากเขตต่าง ๆ ของนครฉงชิ่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดการแข่งขันไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์ร่วมกับมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว เพื่อเฟ้นหา “ไลฟ์สตรีมเมอร์ยอดเยี่ยมแห่งภาคตะวันตกจีน”

มาตรการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ของนครฉงชิ่งในการส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลหยวนด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ จักรยานสาธารณะ แบตเตอรี่ให้เช่า และ Alipay ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้มีความคุ้นชินกับการใช้บริการหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของตน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน

ข้อดีของดิจิทัลหยวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ คือ มูลค่ามีความมั่นคง ไม่ผันผวน สามารถนำไปใช้ชำระได้จริง รวมถึงรัฐบาลจีนสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินได้ 100% ลดกิจกรรมซื้อขายที่ผิดกฎหมาย และลดปัญหาการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี รวมถึงยังช่วยลดอิทธิพลและการผูกขาดอำนาจจากเงินสกุลอื่น ๆ ได้ โดยที่การพัฒนาดิจิทัลหยวนได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ค.ศ. 2021-2025 ฉบับที่ 14 และตัวอย่างความผันผวนที่เกิดกับสกุลเงินรูเบิลเนื่องจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มีส่วนช่วยให้ให้จีนเร่งพัฒนาและส่งเสริมบทบาทการใช้เงินดิจิทัลหยวนเพื่อลดอิทธิพลของสกุลเงินต่างชาติในตลาดเงินโลก เมืองต่าง ๆ ของจีนจึงน่าจะเร่งการทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่การอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน รวมถึงประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการใช้ เพื่อให้การใช้การดิจิทัลหยวนเกิดขึ้นจริงจังต่อไป

ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมระบบรองรับการรับชำระเงินดิจิทัลหยวน โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการจีน  ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการพัฒนาระบบเพื่อเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัล การปรับกฎระเบียบภายในของไทยเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการใช้เงินดิจิทัลหยวนกับประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ (interoperability) รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุมและมีเสถียรภาพ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบเงินดิจิทัลต่อไป

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว cq.news (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565)

http://cq.news.cn/2022-04/28/c_1128602428.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]