นครฉงชิ่ง-นครเฉิงตูยังคงติดอันดับ TOP 10 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยม

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน รัฐบาลของหลายมณฑลในจีนได้รณรงค์การเที่ยวใกล้บ้าน ส่งเสริมแนวคิด “ลดการเดินทางออกจากมณฑลโดยไม่จำเป็น”  จึงมีผลทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวของจีนเปลี่ยนแปลงไป วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ขอนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงโควิด-19 โดยพิจารณาจากข้อมูลในช่วงวันหยุดแรงงานประจำปี 2565 (30 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2565) ดังนี้

 

รายได้จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนเปิดเผยว่า ในปี 2565 ในช่วงวันหยุดวันแรงงาน (30 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2565) คาดว่านักท่องเที่ยวจีนมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 160 ล้านครั้ง ฟื้นตัวเทียบเป็นร้อยละ 66.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 6.468 หมื่นล้านหยวน ฟื้นตัวเทียบเป็นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

นครฉงชิ่ง-นครเฉิงตู ยังคงติดอันดับ TOP 10 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของจีน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งและนครเฉิงตูยังคงสามารถดึงดูดชาวจีนให้เดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยติดอันดับ TOP 10 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมทุกเทศกาล รวมถึงในปีนี้ โดยแพลตฟอร์ม Ctrip จัดอันดับเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม 10 อันดับแรกในช่วงวันหยุดวันแรงงานของปี 2565 ได้แก่ นครกว่างโจว นครเฉิงตู เมืองเซินเจิ้น นครฉงชิ่ง นครฉางซา เมืองจูไห่ เมืองซัวเถา มาเก๊า เมืองฝอซาน และนครกุ้ยหยาง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเมืองที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเยี่ยม ในขณะที่เมืองที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดฯ ระลอกใหญ่ และเมืองที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดฯ สูง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง ไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

 

 

การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในยุค New Normal

แพลตฟอร์ม Ctrip เปิดเผย “รายงานการท่องเที่ยววันหยุดแรงงาน 2565” ว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเที่ยวในประเทศและเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้น โดยคำสั่งซื้อกว่าร้อยละ 40 มาจากนักท่องเที่ยวที่อยู่ในนคร/มณฑลเดียวกัน การตั้งแคมป์และการท่องเที่ยวชนบทเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงวันหยุดวันแรงงาน

ในช่วงวันหยุดดังกล่าว มีจำนวนการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวแบบตั้งแคมป์เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนช่วงวันแรงงาน โรงแรมและที่พักที่ตกแต่งด้วยธีมตั้งแคมป์ มีจำนวนคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 153 เมื่อเทียบกับช่วงวันหยุดเทศกาลเชงเม้ง นอกจากนี้ยังเป็นตัวผลักดันให้ห่วงโซ่อุปทานเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตั้งแคมป์บนแพลตฟอร์ม Ctrip เพิ่มมากขึ้นกว่า 10 เท่า

จำนวนการจองโรงแรมในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 84 เมื่อเทียบกับช่วงวันหยุดเชงเม้ง คำสั่งซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 142 โดยนักท่องเที่ยวนิยมไปชมดอกไม้ เก็บผลไม้ในชนบท

 

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน

หลังจากครบ 1 สัปดาห์ที่รัฐบาล และ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทางโดยเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยยกเลิกระบบ “Test and go” เดิม (ปัจจุบันสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ใช้เพียงแค่หลักฐานการฉีดวัคซีนครบตามที่กำหนด) ผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้วมากกว่า 3 แสนคน ประกอบกับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับของ Global Travel Intentions ของ VISA ให้เป็นอันดับ 4 ของโลกที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกยุคหลังโควิด-19 รองจาก สหรัฐ สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยมีเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมจากการค้นหาทางออนไลน์ ได้แก่ กทม. ภูเก็ต เชียงใหม่ และหัวหิน ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้าประเทศต่อเนื่องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเดือนละ 3 แสนคน และเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งถือเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านคน เป็นสัญญาณส่งผลให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ด้วย

เมื่อไม่นานมานี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดตัวแนวคิดการท่องเที่ยวไทยปี 2565 ภายใต้ธีม “พลิกโฉมการท่องเที่ยวใหม่” หรือ Amazing Thailand, Amazing New Chapters โดยจะตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว ด้วยเรื่องราวที่มหัศจรรย์กว่าเดิม และมากกว่าที่เคยสัมผัส ททท.จะส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ (new normal) เน้นการดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่ใช้งานออนไลน์เป็นหลัก ปรับเปลี่ยนโมเดลใหม่ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง เน้นตลาดที่หลากหลายมากขึ้น

ประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนจากทั่วทุกสารทิศ เช่นเดียวกับนครฉงชิ่งและนครเฉิงตู และยังมีธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่น่าประทับใจของชาวต่างชาติ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอาจพิจารณาแนวโน้ม ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มที่ชอบการผจญภัย การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ท้องถิ่น (For local experience) และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต่อไป โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นปีการท่องเที่ยวไทย “Visit Thailand Year 2022: Amazing New Chapters” ซึ่งจะช่วยให้ไทยยังคงเป็นเป้าหมายและอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1731953638866745165&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1732146266996097980&wfr=spider&for=pc

เว็บไซต์ทางการของสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ (เข้าถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565)

https://www.bangkokbiznews.com/news/1003248

 

ขอบคุณรูปภาพจาก Ctrip

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]