• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • คาด “ผลไม้ไทย” ช่วยดันแอร์ คาร์โกของนครหนานหนิงโตต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

คาด “ผลไม้ไทย” ช่วยดันแอร์ คาร์โกของนครหนานหนิงโตต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ไตรมาสแรกของปี 2565 ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของ ท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง” สร้างสถิติใหม่ 13,900 ตัน เทียบเท่ากับปริมาณการขนส่งของทั้งปี 2563 และคิดเป็น 58.4% ของทั้งปี 2564 โดยปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเฉลี่ยวันละ 154.3 ตัน (ปริมาณขนถ่ายสูงสุดต่อวันอยู่ที่ 280 ตัน)
  • ปัจจุบัน ท่าอากาศยานแห่งนี้มีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวม 14 เส้นทาง ไปยัง 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน 2 เส้นทาง โดยหนึ่งในนั้นเป็นเที่ยวบิน นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ ประเทศไทย”
  • ข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทย วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของ GACC ได้ปรากฎรายชื่อของสถานตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้าของท่าอากาศยานหนานหนิง นั่นหมายความว่า ผลไม้(ไทย) สามารถส่งออกไปยัง “ท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง” ได้แล้ว และท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นด่านทางอากาศแห่งที่ 2 ของกว่างซีที่สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน
  • “ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)

 

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การขนส่งสินค้าของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) ยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นข่าวดีที่ท่าอากาศยานแห่งนี้สามารถนำเข้า ผลไม้” จากต่างประเทศได้แล้ว รวมถึงผลไม้ไทย

เครือบริษัท Guangxi Airport Group หรือ GAG (广西机场管理集团) เปิดเผยว่า การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 พบว่า ท่าอากาศยานแห่งนี้มีปริมาณการขนส่งสินค้าสะสม 35,000 ตัน ในจำนวนนี้ เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 13,900 ตัน (คิดเป็นสัดส่วน 39.71% ของปริมาณการขนถ่ายสินค้าทั้งหมด) เทียบเท่ากับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของทั้งปี 2563 และคิดเป็น 58.4% ของทั้งปี 2564 ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเฉลี่ยวันละ 154.3 ตัน (ปริมาณขนถ่ายสูงสุดต่อวันอยู่ที่ 280 ตัน)

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้ทยอยเปิดเส้นทางการขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก้ (air cargo) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนถึงปัจจุบัน ท่าอากาศยานนครหนานหนิงมีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวม 14 เส้นทาง ไปยัง 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย โดยเป็นเส้นทางบินใหม่ที่เพิ่งเปิดในปีนี้ 3 เส้นทาง คือ นครหนานหนิง-กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย / นครหนานหนิง – รัฐซาบาร์ ประเทศมาเลเซีย และ นครหนานหนิง – กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินอีก 2 เส้นทาง คือ นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ ประเทศไทย และนครหนานหนิง – กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ

สำหรับเรื่องการนำเข้าผลไม้ต่างประเทศของท่าอากาศยานแห่งนี้  บีไอซีขอสรุปภาพรวมพัฒนาการที่น่าสนใจของ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” กับบทบาท “ประตูการค้า(ผลไม้ไทย)” ของท่าอากาศยานแห่งนี้ อาทิ

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ

จากนั้นในเดือนตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศแห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากสำนักงานศุลกากรหนานหนิงเป็นที่เรียบร้อย เป็นคลังสินค้าใหม่ที่สร้างขึ้นและแยกการทำงานออกจากการขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศ มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต

แหล่งที่มา : BBRTV

สำหรับ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ มีพื้นที่ 1,009 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่ลานตรวจ พื้นที่ลานรอตรวจ พื้นที่ตรวจปล่อย ห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ห้องเก็บสินค้าสุ่มตรวจ และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าแบบรอบด้าน กล่องบรรจุผลไม้เน่าเสียแบบปิดมิดชิด

กลับมาที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” หลังจากที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งแล้ว ท่าอากาศยานได้พัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและวางระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC และเข้าสู่กระบวนตรวจรับจาก GACC จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของ GACC ได้ปรากฎรายชื่อของสถานตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้าของท่าอากาศยานหนานหนิง นั่นหมายความว่า ผลไม้(ไทย) สามารถส่งออกไปยัง “ท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง” ได้แล้ว และท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นด่านทางอากาศแห่งที่ 2 ของกว่างซีที่สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน

โดยสรุป  นอกจากฟังก์ชันการเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังได้รับการอนุมัติและผ่านการตรวจรับเป็นด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้วยจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้ง และยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกลางกำหนดให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง กลายเป็นหนึ่งในด่านสากลทางอากาศที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) ให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาให้เป็น Hub การบินเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านการค้า  (Air Cargo) และการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน

“ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก รวมถึงผลไม้เกรดพรีเมียม และผลไม้ที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิด และเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหารถบรรทุกแออัดบริเวณด่านพรมแดนกว่างซี-เวียดนามได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเพื่อกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ ได้โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนน และทางรถไฟความเร็วสูง(กำลังจะเปิดใช้งานในเร็วๆ นี้) ที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์ BIC นครหนานหนิง จะติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการนำเข้าผลไม้ไทยมาอัปเดตให้กับท่านผู้อ่านทราบอย่างต่อเนื่อง

 

จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ Nanning Evenin  (南宁晚报)  วันที่ 10 เมษายน 2565
          เว็บไซต์ http://gx.chinanews.cn (中新社广西) วันที่ 9 เมษายน 2565
         เว็บไซต์ www.caac.gov.cn (中国民用航空中南地区管理局)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]