• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ไตรมาสแรกปี 2565 เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ลงทุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านหยวน

ไตรมาสแรกปี 2565 เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ลงทุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านหยวน

 

ตั้งแต่ปี 2540 คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในการผลักดันการรวมตัวกันของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีน รวมทั้งมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเมืองใหม่โดยรอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมปฏิรูปทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคง ลดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็งในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แนวคิดการจัดตั้งเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู–นครฉงชิ่งจึงเกิดขึ้น

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปนครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดตารางเวลาที่แน่นอน ประสานงานแก้ไขปัญหาอย่างแข็งขัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งให้มีความก้าวหน้าในทุกด้าน โดยในปี 2565 เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง มีแผนลงทุนโครงการสำคัญ 160 โครงการ คิดเป็นเงิน 1.835 แสนล้านหยวน ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เขตฯ ลงทุนไปแล้วกว่า 4.395 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนลงทุนทั้งปี โดยลงทุนใน 6 ด้าน ได้แก่ (1) พัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย 15,780 ล้านหยวน (2) พัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 23,090 ล้านหยวน (3) สร้างศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี 2,510 ล้านหยวน (4) พัฒนาระเบียงท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนครฉงชิ่ง-มณฑลเสฉวน 820 ล้านหยวน (5) พัฒนาระบบนิเวศ 340 ล้านหยวน (6) พัฒนาบริการสาธารณะ 1,410 ล้านหยวน

สำหรับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การลงทุนในไตรมาสแรกคิดเป็นร้อยละ 31.7 ของแผนการลงทุนทั้งปี ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนด การก่อสร้างโครงการหลักในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งและเมืองต่าง ๆ แบ่งเป็นโครงการการผลิต 49 โครงการ เป็นเงินลงทุน 18.17 พันล้านหยวน อาทิ โครงการตัวแยกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium ion battery separator) ประสิทธิภาพสูงของเขตฉางโซ่ว โครงการสวนอุตสาหกรรมความร่วมมือด้านชีวการแพทย์มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง เมืองกว่างอัน เขตเหอชวน และโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี OVU ระยะที่ 1 โครงการผลิตแบตเตอรี่ 12 กิโลวัตต์ ต่อปีของ Geely Technology เขตฝูหลิง โครงการสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะจีน-สิงคโปร์ เขตปี้ซาน ระยะที่ 1 โครงการผลิตวัคซีนป้องกันโรค โครงการก่อสร้างเครือข่าย 5G ครอบคลุมมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง โครงการการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลของ SME ระดับภูมิภาค โครงการสวนอุตสาหกรรม Tenglong 5G นครฉงชิ่ง โครงการศูนย์ข้อมูลคลาวน์ Tencent นครฉงชิ่ง ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างท่าเรือบก ILSTC นครฉงชิ่ง โครงการอุทยานสาธิตความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืชและยาประสิทธิภาพสูงนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง เขตต้าจู๋-อำเภออันเยว่

ในปี 2565 มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง ทุ่มเงินลงทุนไปที่โครงการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย พัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และสร้างศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน ไทยมีนโยบายเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันทางดิจิทัลและนวัตกรรม ตลอดจนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดังนั้น ประเทศไทยและจีนจึงสามารถพัฒนาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ดังกล่าว เพื่อให้ทันโลกและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งควรสอดประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาและระบบนิเวศด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ  เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

 

แหล่งที่มา : เว็บไซต์ cq.news.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565)

http://cq.news.cn/2022-04/08/c_1128542347.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]