นครเฉิงตูมีแผนเปลี่ยนมาใช้งานรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ไฟฟ้า 100%

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่นานาประเทศต่างเห็นพ้องต้องกัน ในขณะเดียวกัน หัวเมืองหลักในประเทศจีน อาทิ นครฉงชิ่งและนครเฉิงตู ต่างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนมาใช้งานรถยนต์ รถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 กลุ่มงานป้องกันและควบคุมมลภาวะทางอากาศ น้ำ และดิน นครเฉิงตู ได้ออก “แผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ ปี 2565” ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ ใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอน (2) การควบคุมและการลดการปล่อยมลพิษ (3) การควบคุมการใช้ยานพาหนะและการลดการใช้น้ำมัน (4) การลดฝุ่น (5) การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ (6) การใช้เทคโนโลยีการปรับสภาพอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การสนับสนุนการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการใช้พลังงานสะอาด มีสาระสำคัญดังนี้

  • ภายในเดือนเมษายน 2565 นครเฉิงตูมีแผนเพิ่มการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานใหม่ 80,000 -100,000 คันและมีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ไฟฟ้าทั่วทั้งเมือง
  • ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นครเฉิงตูจะกำหนดโครงสร้างพลังงานใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ใช้พลังงานประเภทที่ไม่ใช่ฟอสซิลเป็นอัตราส่วนร้อยละ 46 และใช้พลังงานสะอาดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 นอกจากนี้ จะมีการจัดทำแผนงานสำหรับการก่อสร้างเขตสาธิตสังคมคาร์บอนต่ำ
  • ภายในสิ้นปี 2565 กำหนดให้สร้างสถานีชาร์จ-เปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 350 แห่ง และเครื่องชาร์จไม่น้อยกว่า 20,000 เครื่อง กำหนดให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 48 และห้ามการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือตลาดค้าส่งบริเวณใจกลางเมือง (ภายในถนนวงแหวนที่ 4 ของนครเฉิงตู)
  • นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังมีการจำกัดการใช้งานรถยนต์เก่า ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 จะควบคุมและจำกัดการใช้งานรถยนต์และรถบรรทุกที่ก่อมลพิษสูง และภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2565 กำหนดให้กำจัดรถยนต์เก่าที่มีมาตรฐานด้านมลพิษระดับต่ำกว่าที่กำหนดไม่น้อยกว่า 80,000 คัน

ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย

แม้ว่าปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะมีราคาถูกลงเนื่องจากนโยบายและมาตรการอุดหนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จุดชาร์จ และอู่ซ่อมรถ อาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งาน ในอนาคต หากไทยจะปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% อาจจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จในหมู่บ้าน และปั๊มน้ำมันทุกแห่งในไทย ดังเช่นที่นครเฉิงตูได้กำหนดแผนการก่อสร้างสถานีชาร์จและเครื่องชาร์จไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกปี รวมถึงเพิ่มจำนวนอู่ซ่อมรถสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถมีระยะห่างที่สะดวกต่อการชาร์จและการซ่อมรถกรณีไฟฟ้าหมดหรือรถเสียระหว่างทาง

โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกจะเป็นปัจจัยหลักให้ประชาชนหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางอากาศ และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในฐานะที่นครเฉิงตูเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาคจีนตะวันตก ไทยสามารถส่งเสริมความร่วมมือกับมณฑลเสฉวนด้านการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีความเชี่ยวชาญรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนาไปเป็นดีทรอยต์ของเอเชียในด้านรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสีเขียวของเอเชียต่อไป

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว thepaper (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565)

https://m.thepaper.cn/baijiahao_17282251

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]