• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลส่านซี กานซู หนิงเซี่ยฯ ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้อนรับศักราชใหม่

มณฑลส่านซี กานซู หนิงเซี่ยฯ ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้อนรับศักราชใหม่

ด้วยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีนได้มีการปรับปรุงและประกาศมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อให้ผู้ประกอบชาวไทยได้ติดตามพัฒนาการในประเทศจีน โดยเฉพาะในพื้นที่มณฑลส่านซี กานซู และเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของจีน ดังนี้
ที่มาของการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและผลกระทบจากโควิด-19

การปรับขึ้นมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ กฎระเบียบข้อบังคับค่าแรงขั้นต่ำปี พ.ศ. 2547 ที่ระบุไว้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นควรพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อ1 ครั้งในทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวขึ้นทุกปีและถึงแม้ทางการจีนจะมีนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐยังคงใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานของประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศจีนชะลอตัวลงอย่างมาก ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้เคยให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจากโรคฯ ทำให้ประชากรกว่า 600 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,000 หยวน ซึ่งในการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จีนกำลังปรับตัวสู่ภาวะปกติ พร้อมกับการเดินเครื่องทางอุตสาหกรรมใหม่อีกครั้ง

เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ปักกิ่ง กอดคอครองแชมป์ฐานค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในประเทศ

ในการประกาศปรับขึ้นมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ พบว่าพื้นที่เมืองใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกยังคงเป็นพื้นที่ที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าภูมิภาคตะวันตก โดยนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในประเทศเป็น 2,590 หยวน (ประมาณ 12,457.9 บาท) รองลงมาคือ เมืองเซินเจิ้น 2,360 หยวน (ประมาณ 11,351.6 บาท) และกรุงปักกิ่ง 2,320 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 11,159.2 บาท) โดยมีเมืองอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยสรุปเป็นภาพรวมได้ดังนี้

หมายเหตุ: ข้อมูลในตารางนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2566

อ้างอิงอัตราการแลกเปลี่ยน 1 หยวน : 4.81 บาท ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 จาก ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

สำรวจการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จีนตะวันตก

จากข้อมูลข้างต้น พบว่าเมื่อเปรียบเทียบใน 12 มณฑลภาคตะวันตกนั้น นครฉงชิ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มมากที่สุดที่ 2,100 หยวน (ประมาณ 10,101 บาท) รองลงมาได้แก่ มณฑลเสฉวน, เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ตามด้วย มณฑลส่านซี อยู่ในลำดับที่ 4 เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยอยู่ในลำดับที่ 5 และ มณฑลกานซู อยู่ในลำดับที่ 9 ทั้งสามพื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในระดับปานกลาง เนื่องมาจากการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำโดยทั่วไปจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าครองชีพ เบี้ยประกันสังคมที่ลูกจ้างจ่าย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่อยู่อาศัย ค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงาน อัตราการว่างงาน และระดับการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน

สำรวจค่าแรงขั้นต่ำในมณฑลส่านซี กานซู และเขตฯ หนิงเซี่ยหุย

จากข้อมูลอัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำข้างต้น มณฑลส่านซี กานซู และเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้มีการปรับขึ้นทั้งรายเดือนและต่อรายชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่

นอกเหนือจากพื้นที่มณฑลส่านซีแล้วนั้น ยังมีเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยและมณฑลกานซู ที่มีการปรับมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย  มีการปรับมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำขึ้นสูงสุด 100 หยวน ตามภาพดังนี้

และมณฑลกานซู มีการปรับมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำขึ้นสูงสุด 50 หยวน ตามภาพดังนี้

 

โดยค่าแรงขั้นต่ำในมณฑลส่านซีมีอัตราการปรับขึ้นทั้งหมด 3 ขั้น มีการปรับขึ้นสูงสุดที่ 100 หยวน ซึ่งจะทำให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 1,950 หยวน (ประมาณ 9,379.5 บาท) 1,850 (ประมาณ 8,898.5 บาท) 1,750 หยวน (ประมาณ 8,417.5 บาท) ตามลำดับการจัดการกลุ่มพื้นที่ ดังนี้

ประเภทอัตราขั้นต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ อัตราขั้นต่ำ/ชั่วโมง

(ในกรณีที่จ้างไม่เต็มวัน)

1.ขั้นที่1 ( 1,950 หยวน/เดือน) 19 เขต (อำเภอ)

นครซีอาน: เขตซินเฉิง (新城区) , เขตเปยหลิน (碑林区) , เขตเหลียนหู (莲湖区) , เขตป้าเฉียว (灞桥区) , เขตเว่ยยาง (未央区) , เขตเยี่ยนถ่า (雁塔区) , เขตเหยียนเหลียง (阎良区) , เขตหลิงถง (临潼区) , เขตฉางอัน (长安区) , เขตเกาหลิง (高陵区)

เมืองเสียนหยาง: เขตฉินตู (秦都区) , เขตเว่ยเฉิง (渭城区)

เมืองยวีหลิน: เขตยวีหยาง (榆阳区) , เขตเหิงซาน (横山区) , เมืองเสินมู่ (神木市) , อ.ฟู่กู่ (府谷县) , อ.ติ้งเปียน (定边县) , อ.จิ้งเปียน (靖边县)

เขตเกษตรฯ หยางหลิง (杨陵区)

19 หยวน
2.ขั้นที่ 2 ( 1,850 หยวน/เดือน) 42 เขต (อำเภอ)

นครซีอาน: เขตหู้ยี่ (鄠邑区) , อ.หลานเถียง (蓝田县) , อ.โจวจื้อ (周至县)

เมืองเป่าจี: เขตเว่ยปิน (渭滨区) , เขตจินไถ (金台区) , เขตเฉินชาง (陈仓区) , อ.เฟิ่ง (凤县)

เมืองเสียงหยาง: เมืองซิ่งผิง (兴平市) , อ.หวู่กง (武功县) , อ.เฉียน (乾县) , อ.หลี่เฉียน (礼泉县) , อ.จิ่งหยาง (泾阳县) , อ.ซานหยวน  (三原县) , เมืองปินโจว (彬州市)

เมืองถงซวน: เขตหวังอื้ (王益区)

เมืองเว่ยหนาน: เขตหลินเว่ย (临渭区) , เมืองหัวหยิน (华阴市) , อ.ถงกวน (潼关县) , อ.ต้าลี่ (大荔县)

เมืองเหยียนอาน: เขตเป่าถ่า (宝塔区) , เขตอันไซ่ (安塞区) , อ.หวงหลิง (黄陵县) , อ.ลั่วชวน (洛川县) , อ.กานเฉวียน  (甘泉县) , อ.อู๋ฉี่ (吴起县) , อ.จื้อตาน (志丹县) , เมืองจื่อฉาง (子长市)

เมืองยวีหลิน: อ.สุยเต๋อ (绥德县) ,  อ.หมี่จื้อ (米脂县) ,  อ.เจีย (佳县) ,  อ.อู๋เป่า (吴堡县) ,  อ.ชิงรุ่น (清涧县) , อ.จื่อโจว (子洲县)

เมืองฮั่นจง: เขตฮั่นไถ (汉台区) , เขตหนานเจิ้น (南郑区) , อ.เฉิงกู้ (城固县) ,  อ.หยาง (洋县) ,  อ.เหมี่ยน (勉县) ,  อ.ซีเซียง (西乡县) , อ.เลี่ยหยาง (略阳县)

เมืองซังลั่ว: เขตซังโจว (商州区)

เมืองหานเฉิง (韩城市)

18 หยวน
3.ขั้นที่ 3 ( 1,750 หยวน/เดือน) 46 เขต (อำเภอ)

เมืองเป่าจี: เขตเฟิ่งเสียง (凤翔区) , อ.ฝูเฟิง (扶风县) , อ.เหมย (眉县) , อ.จีซาน (岐山县) , อ.ไท่ไป๋ (太白县) , อ.หลินโหยว (麟游县) , อ.เชียนหยาง (千阳县) , อ.หล่ง (陇县)

เมืองเสียนหยาง: อ.หย่งโซ่ว (永寿县) , อ.ฉางอู่ (长武县) , อ.ซวินยี่ (旬邑县) , อ.ฉุนฮว่า (淳化县)

เมืองถงชวน: เขตยิ่นไถ (印台区) , เขตเย่าโจว (耀州区) , อ.อี๋จวิน (宜君县)

เมืองเว่ยหนาน: เขตหัวโจว (华州区) , อ.เฉิงเฉิง (澄城县) , อ.เหอหยาง (合阳县) , อ.ผู่เฉิง (蒲城县) , อ.ฟู่ผิง (富平县) , อ.ไป๋สุ่ย (白水县)

เมืองเหยียนอาน: อ.หวงหลง (黄龙县) , อ.ยี่ชวน (宜川县) , อ.ฟู่ (富县) , อ.เหยียนชวน (延川县) , อ.เหยียนฉาง (延长县)

เมืองฮั่นจง: อ.เจิ้นปา (镇巴县) , อ.หนิงเฉียง (宁强县) , อ.หลิวป้า (留坝县) , อ.ฝอผิง (佛坪县)

เมืองอันคัง: เขตฮั่นปิน (汉滨区) , เมืองสวิ๋นหยาง (旬阳市) , อ.ผิงลี่ (平利县) , อ.สือเฉวียน (石泉县) , อ.จื่อหยาง (紫阳县) , อ.ไป๋เหอ (白河县) , อ.ฮั่นหยิน (汉阴县) , อ.เจิ้นผิง (镇坪县) , อ.หนิงส่าน (宁陕县) , อ.หลานก่าว (岚皋县)

เมืองซังลั่ว: อ.ลั่วหนาน (洛南县) , อ.ซานหยาง (山阳县) , อ.เจิ้นอัน (镇安县) , อ.ตานเฟิ่ง (丹凤县) , อ.ซังหนาน (商南县) และ อ.จ้าสุ่ย (柞水县)

17 หยวน

จากข้อมูลข้างต้นเป็นที่สังเกตว่า วิสาหกิจของไทย Shaanxi CP Group ที่มีฐานและโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณ อ. ซานหยวน เมืองเสียนหยางและที่ อ. เชียนหยาง เมืองเป่าจี ข้อมูลจาก www.jy.hunau.edu.cn สะท้อนว่าอัตราค่าจ้างในกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี-โทด้านปศุสัตว์อยู่ที่ 10,000-11,000 อัตราค่าจ้างในกลุ่มการผลิตและแปรรูปอาหารในกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 5,000 หยวน (ไม่รวมสวัสดิการ)[1] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และเน้นไปยังความสำคัญของวุฒิการศึกษาและทักษะความชำนาญเป็นหลัก

การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของจีนจึง มิได้เป็นข้อบ่งชี้ถึงสถานะและระดับการจ้างงานที่แท้อจริง  แต่เป็นเพียงหนึ่งในดัชนีที่จะช่วยดึงดูดไม่ให้เกิดการเดินทางออกจากท้องถิ่นของตนเพื่อไปหางานทำที่เมืองอื่นมากเกินไป ตลอดจนยังเป็นการช่วยธุรกิจที่ประสบปัญหาการจ้างแรงงานได้เท่านั้น เพราะในปัจจุบันปัจจัยด้านการศึกษาทักษะและความสามารถฉพาะด้านถือเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดอัตราค่าจ้างแก่แรงงาน

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Sina.com ระบุว่า ในปี 2564 อัตราเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีของวิสาหกิจเอกชน (Private Enterprises) ระดับปฏิบัติการของมณฑลส่านซีอยู่ที่ 52,331 หยวน (ประมาณ 251,712.11 บาท เฉลี่ยเดือนละ20,976 บาท) เพิ่มขึ้น 4,607 หยวน (ประมาณ 22,159.67 บาท) เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานระดับปฏิบัติงานในกลุ่มที่ไม่ได้จัดอยู่ในวิสาหกิจเอกชน (Non Private Enterprises)[2] อยู่ที่ 90,996 หยวน (ประมาณ 437,690.76 บาท เฉลี่ยเดือนละ 36,474.17 บาท) และเมื่อพิจารณาถึงอาชีพที่ได้รับค่าจ้างและมีอัตราการปรับขึ้นสูงสุดในทั้ง 2 กลุ่ม (ในกลุ่มวิสาหกิจเอกชน (Private Enterprises) และกลุ่มที่ไม่ได้จัดอยู่ในวิสาหกิจเอกชน (Non Private Enterprises)) ได้แก่ ค่าจ้างในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการด้าน IT มีอัตราการปรับตัวของเงินเดือนสูงที่สุดที่ 82,255 หยวน (+19.9%) และ 160,066 หยวน (+20.4%) ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะตัวและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ย่อมได้รับผลตอบแทนที่สูง ซึ่งปัจจุบัน มณฑลส่านซีเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก ซึ่งทำให้ตลาดแรงงานในกลุ่มที่พึ่งพาทักษะและความชำนาญเฉพาะด้านเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้อัตราค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับข้อมูลจาก Jobui.com ที่ระบุว่า ในปี 2565 แผนกวิศวกรอัลกอริทึมด้านการระบุลายนิ้วมือของ Samsung (Xi’an) Electronics Co. Ltd มีอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ 20,000-30,000 หยวน/เดือน (ไม่รวมสวัสดิการ)[3]

โดยสรุป

ท่านผู้อ่านอาจทราบดีว่า ปัจจุบันจีนมิได้วางตนเองในการเป็นโรงงานโลกอีกต่อไป ด้วยเป้าหมายที่ต้องการยกระดับศักยภาพในการผลิตของตนเองที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมากขึ้น ควบคู่ไปกับเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงถูกบรรจุไว้ให้เป็นแนวปฏิบัติที่ผู้ประกอบการจะต้องนำมาพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงให้แก่ลูกจ้างของตนเองตามพื้นที่ที่ตั้งอยู่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยค่าแรงเพียงอย่างเดียวก็มิได้เป็นแรงจูงใจทั้งหมดในการเลือกพิจารณาลงทุนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมเกิดการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนการขนส่งและการเข้าถึงตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ และที่สำคัญที่สุดคือแรงงานที่มีทักษะ ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ

น.ส. ศรัณย์พร ธรรมนันทาวัฒน์ นักศึกษาฝึกงาน   เขียน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน      เรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง

[1] https://jy.hunau.edu.cn/company/index.php?c=show&id=52305

[2] กลุ่มที่ไม่ได้จัดอยู่ในวิสาหกิจเอกชน (Non Private Enterprises) ของจีน หมายถึง กลุ่มรัฐวิสาหกิจ, หน่วยงานสถาบันมหาชน (Public Institution), บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, สหกรณ์, บริษัทที่ลงทุนด้วยเงินทุนจาก ตปท., บริษัทจำกัด, ธุรกิจลงทุนโดยบุคคลธรรมดา http://tjj.shaanxi.gov.cn/upload/2016/tongjinianj2016/2016/zk/html/sm05.htm

[3] https://www.jobui.com/company/9055/salary/xian/

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]