• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีจับมือสิงคโปร์ พัฒนาพลังงานไฟฟ้า ดัน Green Port โอกาสที่น่าเรียนรู้ของไทย

กว่างซีจับมือสิงคโปร์ พัฒนาพลังงานไฟฟ้า ดัน Green Port โอกาสที่น่าเรียนรู้ของไทย

ภายใต้ภูมิทัศน์โลกใหม่ที่นานาชาติกำลังตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้แต่ละประเทศปรับกระบวนทัศน์ เบนเข็มการพัฒนาสู่ ‘ระบบเศรษฐกิจสีเขียว’ ในสาขาต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลจีน

ก่อนหน้านี้ บีไอซี ได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด (Green Energy) ในอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยเรียกชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งบริษัท RATCH ของไทยถือหุ้นอยู่ด้วยที่เมืองฝางเฉิงก่าง และโครงการสาธิตด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง ซึ่งจะดำเนินการใน 2 เมืองชายฝั่ง คือ เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองชินโจว

ล่าสุด ในงานประชุมท่าเรือสีเขียวและปลอดภัย ปี 2566 และการประชุมว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือสีเขียวอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่นครหนานหนิง บริษัท Guangxi Beibu-Gulf International Port Group Co.,Ltd. (广西北部湾国际港务集团有限公) เป็นหัวหอก นำทัพจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาท่าเรือปลอดคาร์บอน” ร่วมกับสถาบันวิจัยและบริษัทชั้นนำจำนวนมาก เพื่อร่วมกันผลักดันให้แวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสู่การพัฒนาสีเขียว การพัฒนาคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

 

“ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด (Emission Peak) เป็นทิศทางหลักในการพัฒนาท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port ในอนาคต”

 

กล่าวได้ว่า… หลายปีมานี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือที่มีอัตราการขยายตัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศจีน ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าเพิ่มสูงขึ้นด้วยตัวเลขสองหลักหลายปีติดต่อกัน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน และยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกผ่านการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ ซึ่งมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญ

เมื่อกิจกรรมในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ การสิ้นเปลืองพลังงานและปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และสวนทางกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีน ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมในทุกขนาดธุรกิจในการลงทุน/ปรับใช้เทคโนโลยีสะอาดและ
เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่

ล่าสุด บริษัท Guangxi Beibu-Gulf International Port Group Co.,Ltd. ได้จับมือกับบริษัทสายเรือ COSCO Shipping Lines นครเทียนจิน และบริษัท PSA International Pte.,Ltd. ของสิงคโปร์ ลงขัน 440 ล้านหยวน จัดตั้งบริษัทด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่ท่าเรือชินโจว มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ นับเป็นอีกโครงการที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนา ‘ท่าเรือปลอดคาร์บอน’

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งขานรับนโยบาย Go Green และความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนท่าเรือสู่ Green Port  และ Smart Port โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในเขตท่าเรือ

ที่ผ่านมา ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก” ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ การพัฒนารถเคลื่อนที่ให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการใช้งานรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทดแทนรถบรรทุกเติมน้ำมัน

บีไอซี ขอเน้นว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับคำว่า เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลท้องถิ่นได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว  โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปต่อยอดการทำงาน หรือพัฒนาแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับท่าเรือในกว่างซีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ของท่าเรือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของสองฝ่าย

ที่สำคัญ เป็นอีกโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในจีนโดยสามารถเรียนรู้แบบอย่างความสำเร็จจากโมเดลการร่วมลงทุนอย่างเช่น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่เข้าถือหุ้น10% ในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เฟสที่ 2 หรือบริษัทร่วมทุนด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่ท่าเรือชินโจวที่กล่าวมาข้างต้น

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 19 พฤษภาคม 2566
       เว็บไซต์ www.bbwgw.com/ (广西北部湾国际港务集团有限公)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]