มองทิศทางเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในเวที China-ASEAN – thaibizchina

 

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะ 5 ปี โดย “อาเซียน” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาดังกล่าว โดยกว่างซีจะกระชับความร่วมมือกับอาเซียนแบบใกล้ชิดและรอบด้าน โดยเฉพาะการใช้โอกาสการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 ในการขยายความร่วมมือด้านการผลิต (production capacity) และเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้นอีก
  • ความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และสตาร์ทอัปไทยสามารถศึกษาและแสวงหาความร่วมมือกับกว่างซีได้ในทุกมิติ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งและโครงข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์ของกว่างซีเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาและเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนระหว่างประเทศไทยกับกว่างซี(และจีนตะวันตก) ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว) และด่านทางบก (เส้นทางอาร์ 9 ที่มุกดาหาร และอาร์ 12 ที่นครพนม)

 

ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่นครหนานหนิง นายหลิว หนิง (Liu Ning/刘宁) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้กล่าวว่า ในเวลา 5 ปีนับจากนี้ กว่างซีจะคว้าโอกาสครั้งประวัติศาสตร์จากการพัฒนาและยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 ในการขยายความร่วมมือด้านการผลิต (production capacity) และเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้นอีก

ความโดดเด่นและความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเขตปกครองตนเองกว่างซี ทำให้รัฐบาลกลางกำหนดตำแหน่งให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียน เพื่อกระชับความร่วมมือกับอาเซียนให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในระยะ 5 ปีจากนี้ รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดแนวทางการพัฒนาความร่วมมือกับอาเซียนแบบรอบด้าน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • แสดงบทบาทการเป็น “ข้อต่อ” เชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระหว่าง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area (GBA) – เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี – อาเซียน” และปรับจูนการพัฒนาให้เข้ากับเขตเศรษฐกิจ GBA โดยเฉพาะนครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฮ่องกง และเมืองมาเก๊า และการสร้างโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมกันในทุกมิติ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟขนส่งสินค้า ทางหลวงพิเศษ และแม่น้ำสำหรับการขนส่งสินค้า
  • ส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของ China-ASEAN Expo จาก 10+1 (อาเซียน+จีน) ไปยัง RCEP และ BRI การก่อสร้าง Hub โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างประเทศ และ Super Computer Center เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล การพัฒนาความร่วมมือและสร้างสรรค์นวัตกรรทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างบทบาทการเป็น Financial Gateway to ASEAN
  • เสริมสร้างโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การจับมือกับอาเซียนเพื่อร่วมกันพัฒนาระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (The New International Land and Sea Trade Corridor) ให้สามารถเชื่อมต่อการทำงานได้อย่างราบรื่น คล่องตัว และมีศักยภาพในการลำเลียงขนส่งสินค้าได้สูง การพัฒนาโครงข่ายระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก หรือ NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) ทั้งการพัฒนาเส้นทางขนส่งใหม่ (คลองขนส่งผิงลู่เชื่อมนครหนานหนิงกับทะเลอ่าวเป่ยปู้) และการก่อสร้างรางรถไฟเพื่อเชื่อมเส้นทางที่ขาดช่วงอยู่ (เมืองไป่เซ่อ-หวงถ่งในมณฑลกุ้ยโจว) ทำให้ NWLSC เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ” ที่เชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนใน(ภาตตะวันตก)ออกสู่ทะเลที่อ่าวเป่ยปู้
  • สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งยังมีช่องว่างให้เติมเต็มได้อีกมาก การขยายความร่วมมือกับอาเซียน การดึงดูดและบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญชั้นนำและทีมนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับประเทศและห้องปฏิบัติการระดับมณฑล การจัดตั้งเขตความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสู่อาเซียน และการแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรในอาเซียนเพื่อร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยและห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ส่งเสริมการพัฒนา “เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล” หรือ Seaward Economic โดยมีเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นแพลตฟอร์มหลัก โดยกำหนดฟังก์ชันให้เมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ คือ เมืองเป๋ยไห่เป็นเมืองนำร่องด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล เมืองชินโจวเป็น Hub ยุทธศาสตร์ระเบียง NWLSC และเมืองฝางเฉิงก่างเป็นมืองอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลที่มีความทันสมัย

บีไอซี เห็นว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกว่างซีข้างต้น ซึ่งมี “อาเซียน” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และสตาร์ทอัปไทยสามารถศึกษาและแสวงหาความร่วมมือกับกว่างซีได้ในทุกมิติจากแผนงานที่กล่าวมา โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความพร้อมของการพัฒนาความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของกว่างซีเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาและเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนระหว่างประเทศไทยกับกว่างซี(และจีนตะวันตก)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn  (
广西人民政府网) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
ภาพประกอบ nikko wang

 

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]