ข่าวการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาในอู่ฮั่นกลายเป็นประเด็นร้อนแรงไปทั่วโลก ถนนที่เคยพลุกพล่านด้วยผู้คนกลับเงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ฉันในฐานะที่เคยเรียน เคยอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหวาจง เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตั้งแต่ช่วงปี 2014-2018 ได้มีโอกาสเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ รอบอู่ฮั่นบ้าง มณฑลอื่นบ้าง ก็ยังไม่เคยได้พบเห็นเมนูสุดประหลาดที่แชร์กันอยู่บนโลกออนไลน์ในขณะนี้
ด้วยความที่อู่ฮั่นเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหล ไม่ว่าจะดึกดื่นค่อนคืนแค่ไหนคุณก็จะสามารถหาซื้อของกินได้ตลอดเวลา ถนนหนทางของเมืองนี้จะมีรถวิ่งขวักไขว่ตลอด ตามฟุตบาธเต็มไปด้วยผู้คนยิ่งถ้าเป็นย่านกวางกู่ด้วยแล้ว ห้าทุ่มเที่ยงคืนที่คนไทยพากันเดินออกมากินปิ้งย่างหลังมหาวิทยาลัยก็ยังเห็นรถติดยาวเหยียด และประมาณสี่ทุ่มของทุกวันจะมีรถของเทศบาลมาทำการฉีดล้างถนน ความแรงของน้ำที่ออกมาจากรถล้างถนนนี้เป็นที่รู้กันถึงอิทธิฤทธิ์เป็นอย่างดี ดีตรงที่ว่ามีเพลงนำมาก่อน แค่ได้ยินเพลงนำคนที่เดินอยู่บนทางเท้าและรถจักยานทั้งหลายก็จะหลบกันเป็นแถว เพราะที่นี่ล้างถนนกันทุกวันถนนหนทางทุกสายจึงสะอาดมาก บางทียังแอบคิดว่าสามสี่วันล้างทีก็ยังได้

กวางกู่เป็นที่ศูนย์รวมของความทันสมัย ศูนย์รวมห้างสรรพสินค้า แหล่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีย้ำยุค และที่ทำการบริษัท สมัยที่้เรียนอยู่สถานีกวางกู่เป็นป้ายแรกและป้ายสุดท้ายของสถานีรถไฟใต้ดินสาย2 (สนามบินเทียนเหอ-กวางกู่สแควร์) ค่าโดยสาร 7 หยวน(ประมาณ 35บาท/ระยะทางประมาณ 25 กม.) ซึ่งรถไฟใต้ดินสาย2 เป็นสายแรกของอู่ฮั่นเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2012 แต่จนถึงปัจจุบันอู่ฮั่นมีรถไฟใต้ดินประมาณ 20สาย วิ่งทั่วเมือง และยังมี Tram วิ่งรอบกวางกู่อีกสองสาย ส่วนมหาวิทยาลัยก็มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นเพราะมีสถานีรถไฟใต้ดินอยู่หน้ามหาวิทยาลัย ถ้ามาจากสนามบินก็พุ่งตรงมามหาวิทยาลัยได้เลยโดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย แต่ถ้านั่งแท็กซี่มาจากสนามบินอาจต้องเสียค่าโดยสารประมาณ 120-150หยวน(ประมาณ750 บาท) และสถานีTram อีก2 สถานี ตั้งอยู่ตรงหน้ามหาวิทยาลัย ตอนปี2018 ได้ทันใช้บริการ Tram หลายครั้ง แต่สถานีรถไฟใต้ดินหน้ามหาวิทยาลัยสมัยนั้นยังก่อสร้างไม่เสร็จ เลยต้องไปใช้บริการรถไฟใต้ดินที่สถานีกวางกู่

ใจกลางย่านกวางกู่จะมีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆอยู่ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหวาจง และมหาวิทยาลัยธรณีวิทยา (อู่ฮั่น) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรณีวิทยามีสองแห่งคือปักกิ่งและอู่ฮั่น และทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้จะมีชาวต่างชาติค่อนข้างมาก ส่วนที่มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ในตอนนั้นน่าจะมีต่างชาติอยู่ราว 3-4 พันคน มีคนไทย เกือบ 30คน และยังไม่นับน้อง ๆ ฝั่งถงจี้ (ที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหวาจง)ที่มาเรียนแพทย์อีกหลายสิบคนที่อยู่อีกเขตหนึ่งของเมืองอู่ฮั่น และในตอนนั้นเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่มาเรียนคณะวารสารศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยนี้ และในชั้นปีเดียวกันไม่มีคนต่างชาติเลย ชาวต่างชาติจากมหาวิทยาลัยข้างๆและนักศึกษาจีนจะชอบมากินข้าวในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย เพราะมีเสียงร่ำลือว่าอาหารอร่อยกว่า อันนี้เพื่อนคนจีนบอกแต่ไม่ยืนยันว่าจริงเท็จแค่ไหน อาหารขึ้นชื่อคือหมาล่าทาง (ลักษณะเหมือนเกาเหลาหรือสุกี้น้ำ) และหวงเมิ่นจีฟ้าน (ไก่ตุ๋นยาจีนราดข้าว) เวลาไปกินคนขายชอบตักข้าวให้เยอะๆ มีเพิ่มน้ำซุปให้ด้วย และชอบถามว่ากินแค่นี้จะอิ่มเหรอ
สิ่งที่ชาวบ้านร้านตลาดย่านกวางกู่คุ้นเคยก็คือชาวต่างชาติที่พูดภาษาจีนกลางด้วยสำเนียงจีนกลางแปลกๆ คนต่างชาติที่พูดจีนได้บ้างไม่ได้บ้าง และคนต่างชาติที่พูดจีนไม่ได้เลย แต่เราก็สื่อสารกันรู้เรื่องและเข้าใจ แม้ว่าหลายครั้งจะสื่อสารด้วยภาษาจีนกลางสำเนียงอู่ฮั่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เวลาออกไปซื้อของถ้าเจ้าของร้านรู้ว่าเป็นคนไทยก็จะรีบมาพูดคุยด้วย อย่างเป็นกันเอง และบอกว่าชอบเชียงใหม่ พัทยา กรุงเทพ ภูเก็ต อยากเที่ยวเมืองไทย เจ้าของร้านอาหารตงเป่ยช่าย (อาหารอีสานของจีนแถบมณฑลเหลียวหนิงและจี๋หลิน) ข้างๆ มหาวิทยาลัยเวลาที่มีคนไทยไปกินก็จะทำอาหารมาให้พิเศษ ปริมาณที่ให้ก็จะให้มากกว่าคนอื่น ๆ ถ้าหายหน้าไปนานก็จะถามถึงคนนั้นคนนี้ว่าหายไปไหนกัน
ดร.ศรีสุข อาชา
ศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสาร
Huazhong University of Science and Technology
Wuhan, Hubei