• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประเทศจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด? [บทความนี้ยาวหน่อยครับ แต่มี…

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประเทศจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด? [บทความนี้ยาวหน่อยครับ แต่มี…

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประเทศจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด? [บทความนี้ยาวหน่อยครับ แต่มีประโยชน์แน่นอน ^^]

แทบทุกคนที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองจีนในช่วงหลายสิบปีก่อน และมาได้รับรู้อีกทีในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ คงจะเกิดการเปรียบเทียบและมีข้อสงสัยในใจอย่างแน่นอน

ในฐานะที่อ้ายจงใช้ชีวิตในจีนมานานพอสมควรตั้งแต่ปี2011 ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนมาโดยตลอด ก็พอจะฟันธงได้เลยว่า หนึ่งในปัจจัยหลักๆที่ทำให้จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ “การศึกษา” ที่ได้รับการสนุนอย่างจริงจังจากทางรัฐบาล ไม่ว่าจะมีการเสนอแผนพัฒนาแห่งชาติแผนใดรัฐบาลใดก็ตาม จะต้องมีการโฟกัสไปที่ การศึกษา เสมอ

10ปีมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาของประเทศครั้งยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวกับต่างชาติโดยตรงรวมถึงประเทศไทยด้วย นั่นคือ “การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ รวมถึงกระตุ้นให้นักศึกษาจีนเองมีการพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่าสากลและส่งไปเรียนต่างประเทศเช่นกัน” ในแต่ละปีจีนให้ทุนแก่นักศึกษาต่างชาติมากกว่า 200ทุนการศึกษา ทั้งระดับเรียนภาษา หลักสูตรระยะสั้น ระดับปริญญาตรี โท เอก ซึ่งนักศึกษาไทยเองก็ได้ทุนการศึกษาจากจีน โดยเฉพาะทุนรัฐบาลจีนนับร้อยคนต่อปี

ทำไมทางจีนจึงให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก? ให้ไปแล้วจีนจะได้อะไร เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือสิ้นเปลืองกันแน่? ข้อสงสัยนี้เป็นสิ่งที่ทั้งชาวต่างชาติและคนจีนสงสัยจำนวนมาก ตัวอ้ายจงเองก็เคยสงสัย แต่ก็ได้รับคำตอบอย่างกระจ่างเมื่อไปใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาทุนรัฐบาลจีน และในฐานะ ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มนักศึกษาไทยผู้ได้รับทุนจีน หรือ Thai CSC (ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คน ผู้ที่สนใจขอทุนเรียนในจีน ลองค้นหากลุ่มนี้ใน Facebook กดเข้าร่วมได้ครับ)

คำตอบคือ เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาในระยะยาวและอย่างยั่งยืน การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติผู้มีความสามารถจากทั่วโลก โดยเฉพาะแถบอเมริกาและยุโรป จะทำให้คนจีนทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นๆได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เทียบเท่าสากล อีกทั้งยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมจีน ทำให้มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก ได้รู้ภาษาจีน รู้วัฒนธรรมจีน และช่วยแผ่ขยายออกไปจำนวนมาก (อย่างน้อยก็เพจอ้ายจง ที่นำเรื่องจีนมาเล่าอยู่ตลอด หลังจากไปเรียนที่จีน ^^)

ถ้ามองในแง่ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ ปัจจัยเรื่อง “จำนวนนักศึกษาต่างชาติ และผลงานงานวิจัยที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ” ล้วนมีผลต่อการจัดอันดับ ซึ่งมีผลโดยตรงจากการให้ทุนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในจีน โดยเฉพาะช่วงหลังๆมีการให้ทุนเฉพาะด้านมากขึ้น อาทิ ทุนจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน CAS, ทุนจากสถาบันขงจื้อสำหรับวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงไปในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกใบนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการพัฒนาของจีน ซึ่งหลายๆสิ่งจีนเองก็อาจจะไม่ใช่ที่แรกที่คิดค้น แต่จีนมองเห็นโอกาสในทุกครั้งที่มีสิ่งใหม่ๆเกิดมา แล้วนำมาเรียนรู้และพัฒนา โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษา หรือพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาให้ทรัพยากรบุคคลในประเทศของตน เช่น การบรรจุหลักสูตรโปรแกรมมิ่งภาษาไพธอนเพื่องานAIและBig Data สำหรับเด็กประถมและมัธยม เพราะปัจจุบันภาษาโปรแกรมมิ่งภาษาไพธอนถือเป็นสิ่งสำคัญในวงการโปรแกรมมิ่ง, จัดตั้งสถาบันการศึกษาทางด้านAIปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ, หลายมหาวิทยาลัยดังในจีนพัฒนาหลักสูตรทางด้าน e-sport/Game โดยตรง ทั้งพัฒนาและGameและการทำธุรกืจเกี่ยวกับGame

ล่าสุดจีนแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการศึกษาจีนให้ก้าวไกลอีกครั้ง ด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเอกชน Private University แห่งแรกที่โฟกัสไปที่การพัฒนาบุคคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ณ เขตทะเลสาบชื่อดังของจีน “ซีหู 西湖 หรือ Westlake” เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในนามมหาวิทยาลัย Westlake University

อธิการบดีมหาวิทยาลัยWestlake ระบุว่า “มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรูปแบบนานาชาติอย่างแท้จริง หลักสูตรการเรียนการสอน สภาพแวดล้อม เครื่องมือการเรียนล้วนเป็นแบบนานาชาติทั้งสิ้น โดยเริ่มแรกได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในจีนและต่างประเทศเข้ามาร่วมก่อตั้งหลักสูตรซึ่งผ่านการรับรองจากกระทรวงการศึกษาจีนแล้ว โดยเบื้องต้นมีทีมคณาจารย์และบุคคลากร 68คน จาก13ประเทศทั่วโลก มุ่งเน้นการสอนและวิจัยสายฟิสิกส์,เคมี,ชีววิทยา,วิศวกรรมศาสตร์,แพทย์ และสายอื่นๆทาง Sci & Tech ”

มหาวิทยาลัยWestlake ยังถือเป็นการปฏิวัติวงการสถาบันการศึกษาเอกชนในจีน ด้วยการเป็น “มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในจีนที่เปิดสอนปริญญาเอก โดยตอนนี้ได้มีนักศึกษาปริญญาเอกชุดแรกที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาแล้ว 19 คน และจะมีมาอีก 120คน ภายในสิงหาคมปีหน้า” แต่ตอนนี้ตัวอาคารของมหาวิทยาลัยเองกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเริ่มมาตั้งแต่เมษายนที้ผ่านมา ตามแผนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2021

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า “การสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยจีน” ก็เข้มข้นมากจนได้ชื่อว่ายากที่สุดในโลก ซึ่งก่อให้เกิดการตื่นตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสมอในหมู่เด็กและผู้ปกครองในจีน แม้จะมีข้อด้อยบางประการในเรื่องของความเหลื่อมล้ำเด็กในเมืองและชนบท แต่ทางการจีนเองก็มีนโยบายออกมาช่วยแก้ไข โดยหัวใจสำคัญคือ การสอบคัดเลือกที่เข้มข้น แม้จะสร้างแรงกดดันต่อตัวเด็กและครอบครัว แต่เราก็ต้องยอมรับว่า “นี่คือการปลูกฝังจนอยู่ในสายเลือดของคนจีน ให้มีการสู้และดิ้นรน เพื่อให้มีชีวิตดีขึ้น จากการศึกษาที่ดี จากการได้เรียนในสถาบันที่ดีมีชื่อเสียง ดังนั้นอย่าแปลกใจ หากไปเรียนในจีนแล้วจะเจอคนจีนที่ขยันหามรุ่งหามค่ำ ต่อแถวเข้าหอสมุดตั้งแต่ฟ้ายังไม่แจ้ง..”

หลักฐานสำคัญที่เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนว่า การศึกษาจีนเริ่มเป็นที่ยอมรับจองนานาชาติแล้ว คือ “หลายมหาวิทยาลัยระดับท็อปในอเมริกา, ยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ ประกาศรับรักศึกษาจีนจากคะแนนสอบเอนทรานซ์จีน หรือเกาเข่า” แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นที่มีต่อการศึกษาจีนในระดับหนึ่ง

ที่เขียนมาทั้งหมดยังมีเรื่องราวอีกมากที่ก่อให้เกิดการพัฒนาจีนอย่างก้าวกระโดด และก็ยังทีอีกมากที่ยังคงเป็นจุดด้อยในจีน แต่วันนี้พอเท่านี้ก่อน และขอย้ำอีกครั้งว่า ที่เขียนมาไม่ใช่เป็นการอวยจีน แต่เป็นการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับจีนจากคนคนหนึ่งที่เรียนและใช้ชีวิตในจีน บวกกับหาข้อมูลหาข่าวในจีนจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #การศึกษาจีน

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]